งานวิจัยล่าสุดจากฟินแลนด์พบหลักฐานบ่งชี้ว่า เด็กที่แม่มีภาวะเครียดอย่างรุนแรงระหวา่งตั้งครรภ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ที่จะเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorders) ภายในอายุ 30 ปี งานวิจัยชี้ว่า แม้หญิงตังครรภ์จะมีภาวะเครียดเรื้อรังในระดับปานกลางก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกและผลกระทบจะดำเนินต่อไปหลังเด็กคลอดออกมา
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คืออะไร ?
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คือ กลุ่มความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรม การนึกคิด และความรู้สึก ที่ผิดแปลกไปจากผู้คนทั่วไป จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น
ความผิดปกติจำพวกนี้อาจรวมถึง ความรู้สึกวิตกกังวลหรือความแปรปรวนทางอารมณ์อย่างรุนแรง รวมทั้งความรู้สึกระแวง และต่อต้านสังคม
คาดว่า ภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพเป็นภัยคุกคาม คน 1 ใน 20 คน และคนเหล่านี้มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะมีปัญหาทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือปัญหาการใช้ยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ และเช่นเดียวกับความเจ็บป่วยทางจิตอื่น ๆ ปัจจัยเรื่องการเลี้ยงดู ปัญหาทางสมองและพันธุกรรม อาจมีส่วนให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพนี้ได้
งานวิจัยชิ้นนี้พบข้อมูลอะไรบ้าง ?
ผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ British Journal of Psychiatry โดยเก็บข้อมูลจากสตรีตั้งครรภ์กว่า 3,600 คนที่อาศัยอยู่รอบกรุงเฮลซิงกิ และให้กำเนิดบุตรระหว่างปี 1975 – 1976 ทีมนักวิจัยได้บันทึกข้อมูลเรื่องความเครียดของผู้หญิงเหล่านี้ โดยให้พวกเธอระบุระดับความเครียดขณะตั้งครรภ์ว่าอยู่ในระดับรุนแรง, เครียดเป็นครั้งคราว หรือไม่มีความเครียดเลย
ความเครียดเหล่านี้อาจมาจากปัญหาในชีวิตคู่ ปัจจัยทางสังคม หรือปัญหาทางจิต จากนั้นเมื่อลูกของหญิงกลุ่มนี้มีอายุครบ 30 ปี ทีมนักวิจัยได้ติดตามว่าพวกเขามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ามีด้วยกัน 40 คน โดยทั้งหมดมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้พบว่า การที่มารดามีความเครียดรุนแรงเรื้อรังขณะตั้งครรภ์ทำให้ลูกที่เกิดมามีแนวโน้มมากขึ้น 9.53 เท่า ที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพเมื่อเทียบกับกลุ่มที่แม่ไม่มีความเครียดระหว่างตั้งครรภ์เลย ส่วนโอกาสการเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพของลูกที่แม่มีความเครียดระดับปานกลางอยู่ที่ 4 เท่า
ความเครียดส่งผลเสียอย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเครียดในแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพของลูกได้อย่างไร แต่คาดว่าอาจมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมอง หรือมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือปัจจัยอื่นในการเลี้ยงดูเด็ก
ข้อแนะนำจากแพทย์
จิตแพทย์ ชี้ว่า จะต้องมีการจัดบริการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่สตรีมีครรภ์ ดร.ทรูดี เซเนวิรัตเน จากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า การตั้งครรภ์คือช่วงเวลาแห่งความเครียด และหากไม่มีการแก้ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็มีโอกาสสูงที่เธอจะมีภาวะซึมเศร้าหลังการคลอดบุตร
จะลดความเครียดระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร ?
ดร.เซเนวิรัตเน ชี้ว่า ว่าที่คุณแม่ควรได้รับความช่วยเหลือทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และมีการให้ความรู้ถึงวิธีจัดการกับความเครียด “พวกเธอต้องเรียนรู้ที่จะพักผ่อน ขอความช่วยเหลือ และหาคนรับฟังความรู้สึกของพวกเธอ” นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เลิกสูบบุหรี่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย
ที่มา : BBC News ไทย