เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทุกด้านพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
เด็กช่วงวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจ ชอบทดลองเรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว
โดยพัฒนาการของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม
เด็กต้องเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสม ดังนั้น
การพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพจึงต้องเริ่มต้นจากครอบครัว ซึ่งเป็นสังคมกลุ่มแรกของเด็ก
ในการเรียนรู้และปรับตัว
โครงการวิจัย “สถานการณ์ปัญหาสภาวะสุขภาพ พัฒนาการ และพื้นฐานอารมณ์ของเด็กปฐมวัย” ได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์ภาวะสุขภาพ พัฒนาการ พื้นฐาน
ทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย รวมถึงศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพื้นฐานทางอารมณ์ โดยสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของเด็กปฐมวัยและครอบครัว ภาวะสุขภาพเด็ก แบบบันทึกการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental surveillance and promotion manual: DSPM) และแบบประเมินพื้นฐานอารมณ์เด็กปฐมวัย
สถานการณ์ภาวะสุขภาพ พัฒนาการ พื้นฐานอารมณ์ของเด็กปฐมวัย
ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเขตปริมณฑล พบการย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ส่งผลให้ขาดเครือข่ายระบบสังคมช่วยเหลือดูแลเด็ก จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปี ได้รับการดูแลจากสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็ก และโรงเรียนกว่าร้อยละ 53.3 จำนวนเด็กปฐมวัยที่ต้องผละออกจากพ่อแม่ก่อนวัยอันควรถูกส่งไปเลี้ยงดูในโรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษาเพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่อง และด้วยลักษณะการแข่งขันในสังคมที่ทั้งพ่อและแม่ต้องหารายได้ ส่งผลให้ครอบครัวมีความตึงเครียด มีเวลาให้กับบุตรน้อยลง การดูแลตอบสนองเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจลดลง นอกจากนั้นสถานภาพสมรส ระดับการศึกษาของพ่อแม่ รายได้ของครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับ
การอบรมเลี้ยงดูก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและพัฒนาการองค์รวมของเด็กปฐมวัยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันจากการศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ในเขตปริมณฑลพบว่า
เน้นไปที่การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ การส่งเสริมภาวะโภชนาการ การเจริญเติบโต พัฒนาการ
ทันตสุขภาพ และการป้องกันอุบัติเหตุ ส่วนฐานข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็กให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม
และส่งเสริมให้เด็กมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่เหมาะสมยังมีน้อย ไม่มีแนวทางการป้องกันแก้ไขเด็กที่มี
ปัญหาเกี่ยวกับพื้นฐานทางอารมณ์ ทั้งที่พื้นฐานทางอารมณ์ในเด็กปฐมวัยเป็นหัวใจสำคัญของ
บุคลิกภาพที่เป็นลักษณะสำคัญของบุคคลในวัยต่อมา
ปัจจุบันพบปัญหาสุขภาพจำนวนมากที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูเด็กไม่เหมาะสม เด็กที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์เพิ่มขึ้น และหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจก่อให้เกิดการทำผิดกฎหมาย เป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพจิต มีพฤติกรรมความรุนแรง ทั้งนี้ การแก้ปัญหามีความยากลำบากกว่าการป้องกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาสถานการณ์ภาวะสุขภาพ พัฒนาการ
พื้นฐานอารมณ์ของเด็กและปัจจัยที่มีผลต่อพื้นฐานทางอารมณ์ในเด็กปฐมวัย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้วางแผนพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาด้านพื้นฐานทางอารมณ์ต่อไป
ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัย
จากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยที่เข้ารับบริการที่คลินิก
โรงพยาบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนในเขตปริมณฑล ชี้ให้เห็นว่า
- ภาวะโภชนาการของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่มีภาวะโภชนาการที่สมส่วน คิดเป็นร้อยละ 2 ภาวะโภชนาการน้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 16.67 และภาวะโภชนาการเกินเกณฑ์ร้อยละ 15.31
- การประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยตามแบบบันทึกการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) จำแนก 5 ด้าน พบว่าเด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 56.08 และมีเด็ก
ที่สงสัยว่ามีพัฒนาการล่าช้า (เด็กที่ประเมินพัฒนาการไม่ผ่านตามเกณฑ์อย่างน้อย 1 ด้าน)
ร้อยละ 43.92 และเด็กที่ประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ทั้ง 5 ด้าน ร้อยละ 0.45 เด็กปฐมวัยผ่านเกณฑ์
การประเมินการเคลื่อนไหวมากที่สุด รองลงมาเป็นด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม
ส่วนด้านที่ไม่ผ่านมากที่สุดคือ ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา รองลงมาคือ
ด้านการเข้าใจภาษา - ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานอารมณ์เด็กปฐมวัย พบว่าปัจจัย
ที่มีความสัมพันธ์กับพื้นฐานทางอารมณ์เด็กปฐมวัย ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางลบ คือ รายได้รวม
ของครอบครัว ส่วนปัจจัยทางบวก ได้แก่ ด้านการเลี้ยงดูบุตร ด้านความเข้าใจในพฤติกรรมบุตร
ด้านปฏิสัมพันธ์กับบุตร ด้านสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ ส่วนปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับพื้นฐาน
ทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย ได้แก่ เพศเด็ก ลำดับที่ของบุตร ภาวะสุขภาพเด็ก จำนวนสมาชิก
ในครอบครัว ศาสนา การศึกษาพ่อแม่ อาชีพพ่อแม่ รูปแบบการเลี้ยงดูเด็ก
ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย
- ควรสรรหาบุคลากรให้เพียงพอต่อการดูแลเด็กปฐมวัย โดยเน้นการดูแลเด็กในเชิงคุณภาพ และมีการติดตามประเมินเด็กที่มีปัญหา มีการจัดระบบการดูแลและส่งต่ออย่างเหมาะสม
- ควรให้ความรู้กับครู บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ดูแลเด็ก รวมถึงคัดกรองเด็กที่มีปัญหาโภชนาการ พัฒนาการ พื้นฐานอารมณ์ ให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่ครอบครัวในการดูแลเด็ก และควรมีการวางแผนกับครอบครัวในการดูแลและส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็กอีกด้วย
- ควรเพิ่มศักยภาพภาคีเครือข่ายในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กในบุคลากรทีมสหวิชาทุกระดับอย่างจริงจังควรรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จนกระทั่งถึงก่อนวัยเรียน
อ้างอิงข้อมูลจาก : โครงการวิจัย “สถานการณ์ปัญหาสภาวะสุขภาพ พัฒนาการ และพื้นฐานอารมณ์ของเด็กปฐมวัย”
หัวหน้าโครงการ : ชิดกมล สังข์ทอง
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)