ช่วงปฐมวัยหรือ 6 ปีแรกของชีวิต ถือเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส (Window of Opportunity) ที่สมองเด็กเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ธรรมชาติให้พัฒนาการเด็กวัย 0 – 2 ปี เรียนรู้ความผูกพันและไว้วางใจผู้อื่น เด็กในวัยนี้ต้องการแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหลัก คอยดูแลเอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการพื้นฐานในเรื่องกิน อยู่ หลับนอน อ้อมกอด เวลาและการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คุณภาพการเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์ในช่วงนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์กับผู้อื่นไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ในวัย 0 – 3 ปี ยังเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่เด็กจะเรียนรู้ภาษาที่สองนอกจากภาษาแม่ได้อย่างรวดเร็ว
ระหว่างอายุ 3 – 5 ปี เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ถูกผิด และการควบคุมอารมณ์ตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเริ่มสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ เช่น รู้จักแบ่งปัน เล่นแล้วเก็บของให้เรียบร้อย ไม่ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ไม่โกหก ไม่ทำลายข้าวของ และไม่เอาแต่ใจตนเอง หากไม่สอนเด็กในช่วงนี้ จะทำให้สอนเด็กได้ยากมากขึ้นเมื่อโต
ปฐมวัยคือช่วงวางรากฐานการมีตัวตน และการเห็นคุณค่าในตนเอง
พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามลำดับขั้น คือ เด็กจะมีพัฒนาการขั้นต่อไปได้ต้องผ่านพัฒนาการขั้นแรกก่อน วัยเด็กจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในช่วงชีวิตของมนุษย์ ในการวางรากฐาน พัฒนาอารมณ์ และจิตใจ รวมถึงการเรียนรู้สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หากพื้นฐานจะส่งผลต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโต และทักษะในด้านต่าง ๆ ต่อไป
การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นรากฐานแรกที่เด็กเรียนรู้ได้จากการได้รับความรัก การเอาใจใส่จากแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหลัก เมื่อเด็กเล็กรับรู้ได้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่ถูกละเลย ถูกเอาใจใส่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ความรู้สึกไว้วางใจในสิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก
ดังนั้น การได้รับความรัก การให้เวลา และการเอาใจใส่จากแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหลัก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กรู้จักการเห็นคุณค่าในตนเอง นอกจากนั้นการเปิดโอกาสให้เด็กได้พึ่งพาตนเองตามพัฒนาการ และสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จด้วยตัวเอง เช่น กินข้าว ถอดเสื้อผ้า เล่นของเล่นแล้วเก็บของเล่นเข้าที่ ช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วมีคนชื่นชมในความพยายาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์สำคัญที่สร้างให้เด็กเรียนรู้ถึงคุณค่าของตนเองทั้งสิ้น
โครงสร้างสมองก่อรูปเป็นบุคลิกภาพตลอดชีวิต
ปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานด้านตัวตน โครงสร้างสมองส่วนหน้า และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดังนั้น หากเด็กปฐมวัยถูกจำกัดโอกาสในการพัฒนาอย่างเป็นปกติตามธรรมชาติ เช่น ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น (ขาดพัฒนาการด้านร่างกาย) ไม่ได้เล่นสื่อสารกับเพื่อน (ขาดพัฒนาการด้านอารมณ์ และสังคม) ไม่ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย นั่งเล่นแต่มือถือ (ขาดพัฒนาการทุกด้านรวมถึงด้านสติปัญญา) หรือถูกพ่อแม่ลงโทษ ทำรุนแรง ทำลายจิตใจ (ขาดพัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ)
ด้วยเหตุนี้ การที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัยของเรา ให้กลับมามีฐานรากชีวิตที่แข็งแกร่งดังที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูปฐมวัยซึ่งใกล้ชิดกับเด็กที่สุด จะต้องลงแรง ศึกษาสังเกตเด็กอย่างจริงจังเป็นรายบุคคลว่า เด็กคนใดได้รับผลกระทบในระดับใด เพื่อหาทางฟื้นฟู แก้ไข หรือเยียวยาอย่างถูกวิธี ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนต่อไป
หากท่านใดสนใจ สามารถเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/ปฐมวัย-คือรากฐานชีวิต-ท/