วันที่ 21 มิถุนายน 2564 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการ ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 2/2564 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ โดยมี นางสุภาวดี หาญเมธี เป็นประธาน ฯ พร้อมด้วยอำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางสาวจันทิมา ศุภรพงศ์) ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร (นางนันทิชาไวยนพ) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
ที่ประชุมได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้เห็นชอบร่างแผนพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ร่างแผนดังกล่าวเป็นการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งเป็นแนวทางขับเคลื่อนการสื่อสารให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน
ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กปฐมวัย โดยนำสถานการณ์สำคัญที่เด็กปฐมวัยเผชิญในขณะนี้เป็นข้อมูลสำคัญของการสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ภายใต้จุดเน้น “การนำความรู้ส่งต่อถึงพ่อแม่” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทั้งด้านการดูแลและคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเด็กปฐมวัย เบื้องต้นคณะอนุกรรมการ ฯ ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนงานสื่อเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผ่านเนื้อหาสำคัญที่ต้องเร่งสื่อสารใน 3 ประเด็น ได้แก่
1) วิกฤตเด็กปฐมวัย : การตั้งครรภ์ของคุณแม่วัยใส พัฒนาการเด็กที่ค่อนข้างล่าช้า และความเครียดจากการเร่งเรียนหรือการสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
2) ปฐมวัยคือรากฐานทั้งชีวิต : เผยแพร่ความรู้รากฐาน 3 มิติของการพัฒนาเด็ก คือ การพัฒนาด้านตัวตน (Self) การพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions หรือ EF) และการพัฒนาพัฒนาการ 4 ด้าน
3) แนวทางพัฒนาสำคัญที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน : ส่งเสริมการเล่นเพื่อการเรียนรู้ เช่นการอ่านนิทานกับลูกทุกวัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอกลยุทธ์ขับเคลื่อนสื่อปฐมวัย โดยใช้ระบบนิเวศน์ของการพัฒนาสื่อเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (Ecosystem) ซึ่งมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยผ่านเครือข่ายสื่อต่าง ๆ ได้แก่ เครือข่ายผู้ผลิตสาระความรู้ เครือข่ายผู้ผลิตสื่อสาธารณะ และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานด้านนโยบายปรับและเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาเด็กปฐมวัย กลไกปฐมวัยจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักและร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพของเด็กปฐมวัยไทย
ที่ประชุมได้นำเห็นถึงความสำคัญของการนำกลยุทธ์การตลาดสื่อสมัยใหม่มาประยุกต์กับการทำงานในภาครัฐ โดยอาจมีการสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) ความรู้ปฐมวัยของชาติ ผสานกับการร่วมมือกับสื่อภาคเอกชนและสื่อในพื้นที่ ซึ่งอาจเพิ่มการสื่อสารผ่านคนที่มีชื่อเสียงในโซเชียล หรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) กองทุนพัฒนาสื่อ และช่องทางสื่อที่ได้รับความนิยม เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลส่งตรงถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดี นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวให้ช่วยปกป้องและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นพลเมืองคุณภาพของไทยต่อไปในอนาคต