(WORLD CONFERENCE ON EARLY CHILDHOOD CARE AND EDUCATION : WCECCE)
เมื่อวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย (World Conference on Early Childhood Care and Education : WCECCE) ณ กรุงทาชเคนท์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน โดยในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) ได้มอบหมายให้ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) และผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ (นายปานเทพ ลาภเกษร) เข้าร่วมการประชุม ซึ่งมี นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ให้การต้อนรับและเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
การประชุมโลกว่าด้วยการดูแลเด็กปฐมวัยและการศึกษา (WCECCE) มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงสิทธิพื้นฐานของเด็กเล็กทุกคนที่พึงได้รับการดูแลและการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิด โดยส่งเสริมประเทศสมาชิกให้ลงทุนในเด็กเล็กเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมาย 4.2 (SDGs 4.2) ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ และให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี พ.ศ. 2573
ในการประชุมครั้งนี้ สกศ. ได้จัดทำสารัตถะเพื่อแถลงต่อที่ประชุมซึ่งมีประเทศสมาชิกยูเนสโก (UNESCO) กว่า 97 ประเทศ โดยมีใจความสำคัญว่าประเทศไทยได้ยึดมั่นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคน มีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs 4) รวมถึงการส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูเด็กอายุ 0-8 ปี อย่างมีคุณภาพ
อนึ่ง ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 คณะผู้แทนไทยจะร่วมรับรอง “ปฏิญญาทาชเคนต์ เพื่อพลิกโฉมการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย (Tashkent Declaration and Commitments to Action for Transforming Early Childhood Care and Education)” ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นในการให้คำมั่นจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมาย 4.2 และการพัฒนาที่สอดคล้องกับปฏิญญากรุงเทพ ฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN)
สำหรับปฏิญญาทาชเคนต์ ฯ ประกอบด้วยหลักการ 4 ประการ ได้แก่
- การดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงสำหรับทุกคน
- การพัฒนาบุคลากรด้านการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย
- การสร้างนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต
- การวางแผน การกํากับดูแล และการปรับปรุงงบประมาณ