บอร์ดการศึกษาเอกชน เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ อุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียนเอกชน และกำหนดจัดงานวันการศึกษาเอกชน ปี 66

บอร์ดการศึกษาเอกชน โดยมี รมว.ศธ. “ตรีนุช” เป็นประธาน เห็นชอบหลักเกณฑ์
ฯ การอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน รวมทั้งรับทราบการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2566 ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ 30 มกราคม 2566 โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง
เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบออนไลน์ว่าที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติ ดังนี้

เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ การอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน

ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ อาทิ

– คุณสมบัติของโรงเรียนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ต้องเป็นโรงเรียนการกุศล หรือโรงเรียนสามัญศึกษาทั่วไปที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคล และต้องไม่เป็นโรงเรียน
การศึกษาพิเศษที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในอัตรานักเรียนพิการ

– คุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ต้องเป็นนักเรียน
ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในระดับก่อน-ระดับประถมศึกษา เป็นนักเรียนที่ได้ลงทะเบียนและเรียนอยู่จริงถูกต้องตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตจัดตั้งหรือตราสาร เป็นนักเรียนในโรงเรียนสามัญศึกษาทั่วไปที่มีปัญหาทุพโภชนาการ (น้ำหนักและส่วนสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละช่วงวัย เกิดจากสภาวะของร่างกายได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณที่ไม่เหมาะกับความต้องการ
ของร่างกาย : เตี้ย อ้วน ผอมเกินไป) หรือขาดแคลนอาหารกลางวัน และต้องไม่เป็นนักเรียนพิการ
ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในอัตรานักเรียนพิการ

– อัตราเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่
8 พฤศจิกายน 2565 อนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก-ป.6
ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ จำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงิน
ค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน, จำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน
27 บาท/คน/วัน, จำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน,
จำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน

เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
ครั้งที่ 1/2565 ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ ที่ได้ร่วมกันยกร่างไว้เดิม ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ ในเรื่อง One Stop Service ครูต่างชาติ นักเรียนต่างชาติ Big Data ระบบฐานข้อมูลโรงเรียน, การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร, การปรับปรุงแก้ไข กฎ ระเบียบ ในเรื่องการร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ให้สอดรับกับร่าง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่, การพัฒนาผู้บริหาร ครู ผู้สอน บุคลากร นักเรียน
ในเรื่องการขับเคลื่อนกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบ, การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา การประกันคุณภาพภายใน และยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมเครือข่ายและความร่วมมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพอาชีวศึกษา พัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ สช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ในการรับฟังข้อเสนอแนะของโรงเรียนในสภาวการณ์ในปัจจุบัน เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมได้ตรงตามความต้องการ
ของโรงเรียน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคของการพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบในสภาวการณ์ปัจจุบันและสภาวการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต, คณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนนอกระบบ มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ระบบการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัว
ในการบริหารโรงเรียน, คณะทำงานยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเอกชนนอกระบบ มีหน้าที่งานด้านวิชาการและคุณภาพ เพื่อสามารถสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ร่วมกันยกระดับขับเคลื่อนงานการศึกษาเอกชนในภาพรวมต่อไป

รับทราบการเตรียมการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2566

ตามที่ได้มีการประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่
10 กุมภาพันธ์ 2461 จากนั้นจึงได้กำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันการศึกษาเอกชน” ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน
ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมทางการศึกษา ครูและผู้สอนโรงเรียนเอกชน
ได้เผยแพร่ผลงานด้านการศึกษาสู่สาธารณชน รวมถึงนักเรียนและผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถตามศักยภาพ และมีการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ และเกิดการแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งตรงกับนโยบายและเป้าหมายของ ศธ.ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สามารถ
คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน

ในปี 2566 สช. กำหนดจัดงานใน 5 ภูมิภาค ดังนี้

– ภาคตะวันออก วันที่ 4 – 5 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมทวารดี / โรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทอง
ในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดปราจีนบุรี

– ภาคกลาง วันที่ 17 – 18 ก.พ. 2566 ณ โรงเรียนวินิตศึกษา / หอประชุมวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี จังหวัดลพบุรี

– ภาคเหนือ วันที่ 18 – 19 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ปารีสอร์ท / มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดลำพูน

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 24 – 25 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จังหวัดหนองบัวลำภู

– ภาคใต้ วันที่ 25 – 26 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมพาราไดซ์แอนด์รีสอร์ท หาดใหญ่ / มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาทางวิชาการ การแสดงนิทรรศการ
การแข่งขันทักษะทางวิชาการของนักเรียน การยกย่องเชิดชูเกียรติ ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษาเอกชน และนักเรียนผู้สร้างชื่อเสียงระดับประเทศ คาดว่าจะมี
ผู้บริหาร ครู ผู้สอน และนักเรียนโรงเรียนเอกชน รวมถึงผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานภูมิภาคละประมาณ 2,000 คน

เอกสารอ้างอิง

ศธ. 360 องศา. (2566). บอร์ดการศึกษาเอกชน เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ อุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียนเอกชน และกำหนดจัดงานวันการศึกษาเอกชน ปี 66. สืบค้น 4 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://moe360.blog/2023/01/30/private-education-board-1-2566/