วราวุธ รมว.พม. มอบนโยบายขับเคลื่อนงาน พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงพอใจใน พม.

            เมื่อวันที่ 19 กันยายน  2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา
สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบนโยบายการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์ พม. พอใจ : ให้ทุกวัย พึงพอใจใน พม. โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว
ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน ทั้งนี้
คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ทั่วประเทศ ร่วมรับฟังนโยบาย ณ  ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคม
และสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม
กรุงเทพฯ พร้อมทั้งผ่านระบบถ่ายทอดสดออนไลน์ 

นายวราวุธ กล่าวว่า นโยบายการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงพอใจใน พม. ตนมีหัวใจสำคัญในการทำงาน 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย

ข้อที่ 1 นับว่าที่สำคัญที่สุดคือ การทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยการทำงานรับใช้
ประชาชน ไม่ยอมรับการคอรัปชั่น การทุจริตต่าง ๆ  

ข้อที่ 2 การเป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ นักสหวิชาชีพ ซึ่งหน้าที่ของตน คือ ทำงาน
เพื่อให้ทุกคนทำงานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น และเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อที่ 3 ทำได้จริง เกิดประโยชน์ โดยการขับเคลื่อนไปข้างหน้า (ปฏิบัตินิยม) ด้วยวิธีทำงาน 
PSS แม่นยำ (Precision) รวดเร็ว (Speed) สร้างความเปลี่ยนแปลง (Impactful Scale) 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสําคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม
ด้วยการดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วยสวัสดิการ
โดยรัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการทํางานของกระทรวง พม. อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
(SDGs) ของสหประชาชาติ กระทรวง พม. ต้องดำเนินการถึง 8 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย
เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสังคมไทย ซึ่งจะเป็นกรอบสําคัญในการกําหนดวิธีคิด แนวปฏิบัติ
ในการทํางานของกระทรวง พม. ทั้งนี้ นโยบายการบริหารกระทรวง พม. ในวันนี้ จะเป็นกรอบ
การทำงานของทุกคนในกระทรวง พม. เพื่อให้กระทรวง พม. เป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งของประชาชน
ทุกกลุ่มในการเข้าถึงโอกาสและการคุ้มครองทางสังคมที่นำไปสู่หลักประกันและความมั่นคงในชีวิต
โดยมีการขับเคลื่อน 5 นโยบายสำคัญ ประกอบด้วย 

1) นโยบายเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กจนถึงอายุ 3 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากของชีวิต
โดยสิ่งที่เราจะทำ และพัฒนา คือ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการคุ้มครองเด็กมากขึ้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บริหารจัดการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท ให้ครอบคลุม
ทั่วถึง และยกระดับศูนย์อนุบาลพัฒนาเด็กเล็กชุมชน เป็นต้น 

2) นโยบายเด็กและเยาวชน เยาวชน คือ วัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ จำเป็นต้องสนับสนุน
การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 
ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของครอบครัวอุปถัมภ์ (Foster Care) เป็นที่พึ่งให้กลุ่ม
เปราะบางได้จริง และนำร่องโครงการศิลปะบำบัดสำหรับเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
เพื่อเยียวยาฟื้นฟูทางจิตใจ เป็นต้น

3) นโยบายคนทำงานสำหรับวัยทำงาน โดยพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งการถือครอง
กรรมสิทธิ์และการเช่า ผลักดันโครงการบ้านตั้งต้นสำหรับผู้เริ่มทำงานใหม่ (First Jobber) 
พัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ขับเคลื่อนโครงการ
เตรียมพร้อมสูงวัยก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ (Pre-aging) โดยเฉพาะการบริหารการเงิน
และโครงการสร้างรายได้สมาชิกนิคมสร้างตนเอง เป็นต้น

4) นโยบายผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged
Society) ซึ่งกระทรวง พม. จำเป็นต้องเข้ามาดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น ด้วยการพัฒนาสวัสดิการ
สังคมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ อีกทั้งจัดตั้งศูนย์พักฟื้นและเสริมพลังชีวิต (Rejuvenation Center)  
ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุชุมชน/ตำบล  ศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ และกองทุนพัฒนาชุมชน
เพื่อผู้สูงอายุ สนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น

5) นโยบายคนพิการและคนไร้ที่พึ่ง สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.
ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 อีกทั้งยกระดับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป
ร่วมกับองค์กรด้านคนพิการ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ
ปรับปรุงกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้เป็นที่พึ่งสำหรับคนพิการ
ทุกกลุ่มจำนวน 2.2 ล้านคนทั่วประเทศ และขับเคลื่อนโครงการฝึกอบรมแรงงานหรือระบบ
การจับคู่งานกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการบริหารกระทรวง พม. 100 วันแรก เป็นสิ่งที่ทำได้
ไม่ง่าย เนื่องจากแนวการทำงานของกระทรวง พม. เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและมีความ
ซับซ้อน ที่สำคัญคือเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการบูรณาการของหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกัน
ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาไหนเร่งด่วนไปมากกว่ากัน ทั้งมิติเรื่องของเด็กเล็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ
สตรี ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ซึ่งแต่ละหน่วยงานของกระทรวง พม. จะดูแลคนแต่ละกลุ่ม
แตกต่างกัน ดังนั้น เราจะขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ไม่จำเป็นว่า 100 วันจะต้องทำให้เสร็จ
แต่ให้คำมั่นว่าภายใน 100 วัน ทุกอย่างจะมีการเริ่มต้นอย่างแน่นอน 

เอกสารอ้างอิง

เนฐิดา พันธ์ชูเพชร. (2566). วราวุธ รมว.พม. มอบนโยบายขับเคลื่อนงาน พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงพอใจใน พม. สืบค้น 30 กันยายน 2566, จาก https://www.m-society.go.th/news_view.php?nid=36975