สสส.-กทม.-เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก สานพลังจัดใหญ่มหกรรม “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ” ชวนผู้ปกครอง-เยาวชน เล่นอิสระ สร้างพลังสุข กับลาน 3 เพลิน เสริมพัฒนาการทุกมิติ
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2566 ที่ ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง กรุงเทพมหานคร เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน จัดงาน “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ” ให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเล่นที่เป็นอิสระ เกิดพัฒนาการตามวัย สร้างทักษะชีวิตและสร้างสุขภาวะ 4 มิติ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา สังคม
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ต่างประเทศใช้การเล่นอิสระพัฒนาเด็กทุกวัย การเล่นเป็นสิทธิของเด็กในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 และคณะ
กรรมมาธิการแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิเด็ก ให้นิยามการเล่นว่า “การเล่นเป็นมิติพื้นฐานที่สำคัญของความสุขความพึงพอใจในวัยเด็ก และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาทั้งทางกาย สังคม ปัญญา อารมณ์ และจิตวิญญาณ” มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและการเล่นให้เสริมกัน
โดยเพิ่มการเล่นในเนื้อหาการเรียนการสอน ทั้งระดับปฐมวัย ประถม และมัธยม นอกจากนี้ การเล่นยังไม่ใช่แค่ความสุขของเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็มีความสุขเช่นกัน ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กมากขึ้น เห็นแนวทางการพัฒนาเด็ก และเด็กก็จะรักและเชื่อใจผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย”
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า “การปล่อยให้เด็กวัยตั้งแต่แรกเกิด-8 ปี ได้เล่นอย่างเป็นอิสระ เป็นการฝึกสมอง
เพิ่มจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ ได้ออกแบบการเล่นด้วยตนเอง ไม่ถูกจำกัดและควบคุม เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ เกิดความสนใจสิ่งแวดล้อมรอบด้าน เช่น การเล่นทราย เด็กสามารถเรียนรู้
การปั้นแต่งรูปร่าง ฝึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็ก ฝึกจินตนาการ และเรียนรู้ว่าทรายเมื่อโดนน้ำก็อาจทลายลงได้ แต่เราก็ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ได้ เกิดการเรียนรู้ การส่งเสริมให้เกิดการเล่นอย่างอิสระยังส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต มีความแข็งแกร่ง มั่นคง
ในจิตใจ รู้จักการบริหารจัดการอารมณ์และจิตใจ ไม่ถูกชักชวนได้ง่าย หรือแก้ปัญหาในทางที่ผิด
ไปหาอบายมุข
เพราะเข้าใจว่า ‘เล่น’ คือหัวใจของการพัฒนาเด็ก เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ร่วมกับ สสส.
ทำเรื่องนี้มานานไม่น้อยกว่า 15 ปี และในปี 2562 ได้นำเสนอตัวอย่างการเล่นที่หลากหลายให้กับครอบครัว หน่วยงานและคนทั่วไป เกิดเครือข่าย play worker (ผู้อำนวยการเล่น) มากกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ช่วยกันเผยแพร่ความรู้และฝึกทักษะให้กับบุคลากรภาครัฐและคนที่สนใจ อาทิ ครูที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน จัดพื้นที่และชั่วโมงการเล่นอิสระเป็นประจำและมีชุมชนท้องถิ่น รวมถึงผู้นำท้องถิ่นหลายสิบแห่ง สนใจจัดให้มีลานเล่นในชุมชน สนับสนุนให้ผู้ใหญ่ เด็ก ออกมาใช้เวลาดี ๆ กลางแจ้งร่วมกัน มีต้นแบบของ Toy Truck ตระเวนจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อจุดประกายให้ครอบครัว หน่วยงาน ส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอิสระทุกวัน ภายใต้สโลแกน ‘30 นาที เล่นอิสระทุกวัน สร้างพลังสุข’ พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนให้เพิ่มวันลาคลอดให้แม่และเพิ่มวันลาให้พ่อช่วยดูแลลูก เพื่อให้ครอบครัวได้มีโอกาสเรียนรู้ ดูแลใกล้ชิดกัน” น.ส.ณัฐยา กล่าว