สสส.-ไทยโรดส์ สานพลังภาคี เปิดผลสวมหมวกนิรภัยปี 66 พบคนไทยสวมหมวกนิรภัยต่ำกว่า 50% แต่พบทางสว่าง กลุ่มเด็กซ้อนท้าย-สวมหมวกเพิ่มขึ้น 16% จ.ตราด เด็กสวมหมวกเพิ่มสูงสุด 32% เดินหน้าหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบล-อำเภอ-จังหวัด และใช้ CCTV และ AI ติดตามการสวมหมวก เพื่อ Saveสมองเด็กไทย สวมหมวกนิรภัย 100%”
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่โรงแรม อวานี รัชดา กรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิไทยโรดส์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ปี 2566 พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และทิศทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.5 และข้อมูลของระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์ มีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ ร้อยละ 79 และในกลุ่มผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่สวมหมวกนิรภัย มีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ ร้อยละ 24 ขณะที่กลุ่มที่ไม่สวมหมวกนิรภัย บาดเจ็บที่ศีรษะ 41% สอดคล้องกับผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย AIT ปี 2551 พบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ โดยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ ร้อยละ 72 และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ร้อยละ 39 แต่จากผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2553-2566 พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศในภาพรวมยังคงที่ ในปี 2566 พบว่า มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ ร้อยละ 43 โดยแบ่งเป็นผู้ขับขี่ ร้อยละ 48 และ ผู้ซ้อน ร้อยละ 21
“สสส. สนับสนุน และขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัย จากโครงการ “ห่วงใครให้ใส่หมวก” ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา และขยายผลการสวมหมวกนิรภัยในสถานศึกษา โดยเน้นมาขับเคลื่อนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ปลูกฝังจิตสำนึก ด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กปฐมวัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100% สร้างวินัยจราจรในเด็ก รวมถึงครู ผู้ปกครอง ชุมชน เกิดความร่วมมือของท้องถิ่น ชุมชน ครู ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในระดับตำบล โดยอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น จากค่าเฉลี่ย ร้อยละ 7-8 เป็น ร้อยละ 16 โดยเฉพาะ จ.ตราด และ จ.ภูเก็ต มีอัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 คือ ร้อยละ 1 และ ร้อยละ 14 เป็น ร้อยละ 32 และ ร้อยละ 23 ในปี 2566 ตามลำดับ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ที่มูลนิธิไทยโรดส์ และ เครือข่าย Road Safety Watch ได้สำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จนถึงปี 2566 จุดสำรวจ 3,274 ทั่วประเทศ และจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1,471,540 คน พบว่า ภาพรวมของประเทศ มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียง ร้อยละ 43 แบ่งเป็นคนขี่และคนซ้อนสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 48 และร้อยละ 21 ตามลำดับ จังหวัดที่มีการสวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาค ในปี 2566 ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ ร้อยละ 53 ภาคกลางและตะวันออก (ไม่รวม กทม.) จ.ตราด ร้อยละ 67 ภาคใต้ จ.ภูเก็ต ร้อยละ 55 และกรุงเทพฯ ร้อยละ 71 และเมื่อเปรียบเทียบตามบริบทพื้นที่การสำรวจฯ พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รวมคนขี่และคนซ้อน ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยในเขตชุมชนเมืองหลักลดลงเหลือร้อยละ 49 จากร้อยละ 77 และเขตชุมชนชนบทลดลงเล็ก เหลือร้อยละ 29 จากร้อยละ 30
“กลุ่มผู้ใหญ่ทั้งคนขี่และคนซ้อน สวมหมวกนิรภัยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 43 ในขณะที่กลุ่มเด็กเฉพาะคนซ้อน สวมหมวกนิรภัยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 16 โดยจังหวัดที่ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย “ในกลุ่มเด็ก” ดีเด่น ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 29 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ร้อยละ 21 จ.อุบลราชธานี ร้อยละ 21 ภาคกลาง กรุงเทพฯ ร้อยละ 30 ภาคตะวันออก จ.ตราด ร้อยละ 32 และภาคใต้ จ.ภูเก็ต ร้อยละ 37 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนหมวกนิรภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ สู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยจะต่อยอดขยายความร่วมมือกับระหว่างหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติการ รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับการใช้ CCTV ที่มีอยู่ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม และประเมินผลการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์อย่างจริงจัง ” นายณัฐพงศ์ กล่าว
พร้อมเสนอ “5 เรื่องต้องทำเพื่อ Save สมองเด็กไทย” 1) มีนโยบายขับเคลื่อนการสวมหมวกจากส่วนกลาง สู่ท้องถิ่น 2) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย ด้วยการลงทุนเทคโนโลยี 3)สนับสนุนให้มีระบบติดตาม มาตรการสวมหมวกนิรภัย ด้วยการใช้ AI 4) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน-วินัยจราจร ในสถานศึกษา และ 5) ส่งเสริมการเข้าถึงและจัดหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย