วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันความร่วมมือทางการศึกษาของเอเปค (Institute of APEC Collaborative Education) สาธารณรัฐเกาหลี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การแบ่งปันในระดับโลกเรื่องการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยใน ปี 2024” ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและภาคีเครือข่ายจำนวน 17 ประเทศ รวมทั้งหาแนวทางในการสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริการ การศึกษา และการดูแลเด็กปฐมวัย ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ มอบหมายให้ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย พร้อมข้าราชการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม
วิทยากรคือ Ms. Joan Lombardi (Director of Early Opportunities Director & Professor of Stanford Graduate School of Education) บรรยายเกี่ยวกับความก้าวหน้าและความสำคัญของความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยระหว่างประเทศ ซึ่งมี 5 องค์ประกอบหลักในการดูแลเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย สุขภาพ โภชนาการ การดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมในการเลี้ยงดูเด็ก ความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิต และการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด โดยต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ความเป็นอยู่ของครอบครัว การเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ปัญหาความยากจน ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ปัญหาความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาพแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ของการบริการการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบครบวงจร สิ่งสำคัญคือ การสร้างการดูแลเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนให้เชื่อมโยงกับ
ชุมชนของเด็ก การมีกลยุทธ์เพื่อทำลายวงจรความยากจนข้ามรุ่น การสนับสนุนผู้ที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการนำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยของประเทศต่าง ๆ โดยสรุปประเด็นได้ดังนี้
1) สาธารณรัฐเกาหลี: นำเสนอรูปแบบความร่วมมือของการดูแลเด็กปฐมวัยและการศึกษาปฐมวัยระดับโลก รวมทั้งนโยบายการดูแลเด็กปฐมวัยและการศึกษาปฐมวัยในเกาหลี พร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ และนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการดูแลเด็กปฐมวัยและการศึกษาปฐมวัย ได้แก่ การศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในเกาหลีสำหรับการสร้างความร่วมมือด้าน Digital Education และการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา
2) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์: นำเสนอการดำเนินงานด้านการศึกษาปฐมวัยโดยเน้นการบูรณาการด้านสุขภาพ โภชนาการ และการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม เน้นการสร้างระบบการศึกษาปฐมวัยแบบบูรณาการภายใต้กฎหมาย Early Years Act ปี 2013 และการสร้างความเท่าเทียมในชุมชน โดยใช้หน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนทรัพยากรและโครงการที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กปฐมวัยและการศึกษาปฐมวัย
3) สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน: นำเสนอเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยช่วยลดความเหลื่อมล้ำและการส่งเสริมทักษะเบื้องต้นในวัยเด็ก โดยตั้งเป้าให้มีการเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัยที่ครอบคลุมภายในปี 2030 การพัฒนาการจัดการศึกษาแบบเรียนฟรี 1 ปี สำหรับเด็กอายุ 6 ปี พร้อมเสริมทักษะดิจิทัล และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การสร้างความร่วมมือกับ UNICEF
เพื่อจัดทำโครงการเยี่ยมบ้านและรูปแบบการศึกษาทางเลือกสำหรับพื้นที่ชนบท
4) ประเทศโมร็อกโก: นำเสนอเกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียมและโอกาสทางการศึกษาปฐมวัย โดยมุ่งเน้นให้การศึกษาระดับปฐมวัยเป็นรากฐานของความเท่าเทียมทางการศึกษา เป้าหมายคือ การให้บริการการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยทุกคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและชานเมือง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทุกประเทศมุ่งเน้นการดูแลเด็กปฐมวัยและการศึกษาปฐมวัยที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในระดับพื้นที่เป็นรากฐานการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กก่อนเข้าเรียน การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย และการเสริมสร้างศักยภาพของครอบครัวและชุมชนเพื่อสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน
เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมและยั่งยืนให้แก่เด็กทุกคน โดยสกศ. จะนำแนวทางการดำเนินงานและข้อเสนอแนะจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้มาเป็นแนวทางในการยกระดับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศต่อไป