การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ: 6 กิจกรรมหลักสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น เป็นการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาการ และทักษะในกิจกรรมประจำวันที่เด็กปฏิบัติ การบูรณาการจึงถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง
ของการจัดการเรียนการสอนที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยทิศนา แขมณี (2562) ได้ให้
ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการว่า เป็นการนำเนื้อหาสาระที่มีความเกี่ยวข้องกัน
มาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นองค์รวม และสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

เมื่อพิจารณาถึงความหมายของการบูรณาการจะเห็นได้ว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการนั้น ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้ความคิด ประสบการณ์ ความสามารถ และทักษะด้านต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะกระบวนการและเนื้อหาสาระไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อน
ของเนื้อหาลง ลดเวลาการเรียนรู้ของผู้เรียน และตอบสนองต่อความสามารถของผู้เรียนที่มีหลายด้านได้เป็นอย่างดี โดยในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการสำหรับปฐมวัยนั้น จะเป็นการจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง และมีความสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ของสมอง คือ “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม” ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหว
และจังหวะ กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ กิจกรรมการเล่นตามมุม กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง
และกิจกรรมเกมการศึกษา ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การบูรณาการ “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม”

ในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัยหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 สำหรับเด็กอายุ 3 – 6 ปี ได้กำหนดกิจกรรมไว้ว่ามี 6 กิจกรรมหลัก ดังนี้

1. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ได้ฝึก
การทำงานและอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ เป็นกิจกรรมที่มุ่งฝึกให้เด็กได้มีโอกาสฟัง พูด สังเกต สำรวจ คิดแก้ปัญหา ใช้เหตุผล และฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสาระที่ควรเรียนรู้ ครูจึงควรจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับวัย
ของเด็ก และออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมสนทนา อภิปราย
เล่านิทาน สาธิต ทดลอง ศึกษานอกสถานที่ ร้องเพลง เล่นเกม ท่องคำคล้องจอง ประกอบอาหาร
เชิญวิทยากรมาพูดคุยกับเด็ก เป็นต้น

2. กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ
ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ โดยใช้เสียงเพลง คำคล้องจอง เสียงปรบมือหรือจังหวะ
จากเครื่องเล่นดนตรีมาประกอบการเคลื่อนไหว ทั้งนี้เครื่องดนตรีที่นำมาใช้ควรเป็นเครื่องดนตรี
ที่ให้จังหวะที่ชัดเจน เช่น ระฆังสามเหลี่ยม กลอง กรับ เป็นต้นและครูควรออกแบบกิจกรรมให้มี
ความหลากหลาย เหมาะสม สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็กด้วย

3. กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ศิลปะ เช่น การวาดภาพ การปั้น การฉีก-ปะ การตัดปะการพิมพ์ภาพ การร้อย การประดิษฐ์ การเล่นสี หรือใช้วิธีการอื่น ๆ
ที่เด็กได้คิดสร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้นครูจึงควรออกแบบกิจกรรมที่เด็กสามารถทำเองได้ทุกขั้นตอน
และเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำเป็นรายบุคคล ทำเป็นกลุ่มย่อย หรือทำเป็นกลุ่มใหญ่ มีกิจกรรมให้เด็กเลือกทำอย่างหลากหลายในแต่ละวัน และครูควรจัดกิจกรรมไว้ประมาณ 3-4 กิจกรรมต่อวัน เพื่อให้เด็กเลือกทำอย่างน้อย 1-2 กิจกรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากและความซับซ้อนของกิจกรรมด้วย

4. กิจกรรมการเล่นตามมุม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามมุมที่จัดไว้
ในห้องเรียน เช่น มุมบล็อก มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมบทบาทสมมติ มุมบ้าน มุมหนังสือ เป็นต้น เด็กต้องมีโอกาสเลือกเล่นมุมต่าง ๆ ได้อย่างเสรี ตามความสนใจ และความต้องการของเด็กทั้งเป็นรายบุคคล และเป็นกลุ่ม นอกจากให้เด็กเล่นตามมุมแล้วครูอาจให้เด็กเลือกทำกิจกรรมที่ครู
จัดเสริมขึ้น เช่น กิจกรรมสร้างสรรค์ การเตรียมอาหาร การประกอบอาหาร เป็นต้น หรือครูอาจออกแบบมุมเล่นให้สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ และความสนใจของเด็ก รวมถึงจัดหาอุปกรณ์
การเล่นให้เหมาะสมและเพียงพอต่อจำนวนเด็กในห้อง จากนั้นครูควรปล่อยให้เด็กเล่นอย่างอิสระ โดยครูไม่เข้าไปแทรกแซงในขณะที่เด็กเล่น เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง ยกเว้นเด็ก
จะร้องขอความช่วยเหลือจากครู หรือสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อตัวเด็กและผู้อื่น

5. กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กมีโอกาสออกไปนอกห้องเรียน
เพื่อออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย และแสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดความสนใจหรือความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก กิจกรรมกลางแจ้งที่ครูจัดให้เด็กเล่น เช่น การเล่นเครื่องเล่นสนาม
การเล่นทราย การเล่นน้ำ การเล่นอุปกรณ์กีฬา การละเล่นพื้นบ้านการเล่นสมมติ ในบ้านจำลอง
การเล่นในมุมช่างไม้ เป็นต้น ขณะทำกิจกรรมครูต้องคอยดูแลและระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของเด็กทุกคนอย่างทั่วถึง คอยสังเกตพฤติกรรมเด็กและให้การช่วยเหลือตามสมควร เพื่อส่งเสริม
ให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีขึ้น เช่น เด็กทรงตัวได้ไม่ค่อยดี ในขณะทำกิจกรรมครูอาจชวนเด็กมาเล่นเพื่อฝึกการทรงตัวเป็นพิเศษเป็นต้น

6. กิจกรรมเกมการศึกษา เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา มีกฎ กติกาง่าย ๆ เด็กสามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มได้ เกมการศึกษาช่วยให้เด็กรู้จักสังเกต เปรียบเทียบ คิดหาเหตุผล
และเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสี รูปร่าง จำนวน ประเภท และความสัมพันธ์เกี่ยวกับพื้นที่
และช่วยให้เด็กมีความเข้าใจเชิงนามธรรมในรูปแบบของการ์ดเกมมากยิ่งขึ้น เช่น เกมจับคู่
เกมต่อภาพให้สมบูรณ์ หรือเกมภาพตัดต่อ เกมวางภาพต่อปลาย (โดมิโน) เกมเรียงลำดับ
และเกมศึกษารายละเอียดของภาพ (ลอตโต้) เป็นต้น ครูจึงต้องจัดหาหรือจัดทำเกมการศึกษา
ที่มีความหลากหลาย ให้เด็กได้เล่นอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา รวมถึงจัดหา
เกมการศึกษาที่มีระดับความยากและง่ายตามความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กได้พัฒนา
ความสามารถขึ้นไปเรื่อย ๆ

จากข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ครอบคลุม
การพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ พัฒนากล้ามเนื้อเล็ก พัฒนาอารมณ์ จิตใจ และปลูกฝังคุณธรรม พัฒนาสังคมนิสัย พัฒนาการคิด พัฒนาภาษา และส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เป็นการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และหลักการทำงานของสมองอย่างชัดเจน หากครูจัดได้ถูกต้องและครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ ย่อมนำไปสู่การทำให้เด็กกระตือรือร้น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และเกิดแรงจูงใจในการเรียน เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาครบทุกด้าน ช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งสาระ
การเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์สำคัญ ช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการจำ การคิด และการ
แก้ปัญหา และช่วยให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป
เด็กจะสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยความรู้นั้นเป็นความรู้ที่คงทนไม่ลบเลือนไปโดยง่าย

โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่าน “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม” ในประเทศไทย

การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่าน “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม” เป็นแนวการสอนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในประเทศไทย มีหลายโรงเรียนที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจัดกิจกรรม
การเรียนรู้แบบบูรณาการ เช่น โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนอนุบาลสามเสน และโรงเรียนกล่อมดิน เป็นต้น หากผู้ปกครองหรือท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษา และอ่านรายละเอียดในการ
จัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนได้ที่

โรงเรียนทุ่มมหาเมฆ https://www.tms.ac.th/

โรงเรียนอนุบาลสามเสน https://shorturl.asia/nqegM

โรงเรียนกล่อมดิน https://www.facebook.com/klomdin/?locale=th_TH

สแกนเพื่ออ่านเอกสาร : การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางผ่าน “กิจกรรมหลัก6 กิจกรรม”

         คลิกเพื่อรับชมคลิปวีดิโอ

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม”


        

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560. กรุงเทพฯ: สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

____________. (2561). คู่มือการใช้หลักสูตรการศึกษา ปฐมวัย พุทธศักราช 2560 สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี. กรุงเทพฯ: สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

ทิศนา แขมณี. (2562). ศาสตร์การสอน. (พิมพ์ครั้งที่ 23). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พรรัก อินทามระ และคณะ. (2564). เอกสารประกอบการเรียน วิชาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางผ่าน “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม” กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.

OEC News สภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย EP.5 เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางผ่าน 6 กิจกรรมหลัก. สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://youtu.be/3Es8-E_dP4M