“ความรักลูกนั้นเป็นสัญชาตญาณ แต่ทักษะในการเลี้ยงลูก…ไม่ใช่”
ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าอีกคนหนึ่ง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์เด็กชื่อดังได้ชี้ว่า มีบันไดพัฒนาการที่เด็กทุกคนต้องพัฒนา 7 ขั้น เพื่อผ่านไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เริ่มตั้งแต่การสร้างแม่ การสร้างสายสัมพันธ์ การสร้างตัวตน (Self) การเห็นคุณค่าตนเอง เชื่อมั่นว่าตนสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองและเป็นที่รัก การควบคุมตนเอง การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ที่ฝึกให้รู้จักกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ รู้จักวางแผน ตัดสินใจลงมือทำ ซึ่งจาก 6 ขั้นแรกจะเป็นฐานรากนำไปสู่การพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ในเด็กได้อย่างสวยงาม
บันไดพัฒนาการแต่ละขั้นเป็นฐานที่สำคัญของบันไดขั้นถัดไป ยิ่งฐานแข็งแรง เด็กยิ่งไปได้ดี พัฒนาการขั้นต้นไม่ดีไม่แข็งแรงก็ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการต่อไป รากฐานพัฒนาการทั้ง 7 ขั้นดังกล่าว พ่อแม่มีบทบาทเป็นผู้ประคับประคองคนสำคัญที่สุดของลูก รวมทั้งเป็นเบ้าหลอมชีวิตให้ลูก ว่าจะเติบโตไปเป็นคนแบบไหน
ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนมีความพร้อมและมีความรู้
ความรักลูกนั้นเป็นสัญชาตญาณ แต่ทักษะในการเลี้ยงลูก…ไม่ใช่ ดังนั้น “การเป็นพ่อแม่คุณภาพ” เพื่อ “สร้างเด็กคุณภาพ” เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ
ในขณะที่พ่อแม่ (โดยเฉพาะแม่) เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิตของเด็กคนหนึ่ง แต่กลับพบว่าปัจจุบันพ่อแม่กว่าครึ่งไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ผู้หญิงไทยที่เป็นแม่ร้อยละ 70-80 ทำงานนอกบ้าน ร่วมหารายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ดูแลลูกอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งรัฐไม่มีโรงเรียนเตรียมความพร้อมพ่อแม่และครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะช่วงเลี้ยงลูกเล็กซึ่งเป็นปฐมวัยรากฐานของชีวิต ภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ถูกนำมาใช้จากการที่ครอบครัวแยกกันออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยว และสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จนภูมิปัญญาเดิมหลายอย่างถูกลืมเลือน หรือไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีซึ่งเป็นพ่อแม่กลุ่มใหญ่ที่สุด ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำไม่มีทั้งความพร้อมและความรู้ในการเลี้ยงลูก
เด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ในมือของปู่ยาตายาย ซึ่งแม้จะมีทักษะการเลี้ยงเด็กมาก่อน แต่ความเข้าใจต่อโลกสมัยใหม่ และความรู้ด้านพัฒนาการ จิตใจ สมอง ตามบริบทสมัยใหม่ก็อาจจะไม่เพียงพอ
ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาเด็กแก่พ่อแม่สม่ำเสมอ
จากสภาพการณ์และข้อจำกัดหลายอย่างดังที่กล่าวมา จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับพ่อแม่และครอบครัว ต้องเร่งให้ความรู้เรื่องพัฒนาเด็กแก่พ่อแม่ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวและชุมชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพสต. อสม. และ อพม. รวมทั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวที่มีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ ให้พ่อแม่มีความรู้ ความเข้าใจฐานราก 3 มิติของการพัฒนาเด็ก คือ
1. พัฒนาการ 4 ด้านตามวัย ทั้งการพัฒนาทางร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคมและสติปัญญา
2. พัฒนาการด้านตัวตน (Self)
3. พัฒนาการทักษะสมองส่วนหน้า (EF)
เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เข้าใจธรรมชาติตามวัย สามารถพัฒนาตัวตนขึ้นมาเป็นคนที่เห็นคุณค่าตนเอง และมีพลังไปตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถพัฒนากระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า เพื่อช่วยส่งเสริมให้ลูกปฐมวัยมีพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่ดี วิธีการที่พ่อแม่และคนในครอบครัวทุกคนสามารถทำได้ง่าย เช่น
- “กิน” ให้ใส่ใจเรื่องโภชนาการ และพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมของลูก เช่น ตักอาหารกินเอง กินหลากหลาย นั่งกินที่โต๊ะอาหารพร้อมผู้ใหญ่
- “นอน” ให้มีเวลานอนที่เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อให้สมองของเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ เพราะในช่วงเวลานอน สมองจะจัดระเบียบข้อมูล เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานในช่วงตื่นได้ดีขึ้น
- “กอด” ให้เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ไม่ใช้ความรุนแรง แสดงความรักกับลูกสม่ำเสมอด้วยการกอด ชื่นชมเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ตอบสนองเด็กได้อย่างเหมาะสมแต่ไม่ตามใจในสิ่งที่ไม่ควร เพื่อให้เด็กรู้สึกเป็นที่รัก มีตัวตนซึ่งจะเป็นฐานที่เข้มแข็งของจิตใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายหน้า
- “เล่น” ให้เด็กปฐมวัยได้เล่นมากพอ เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กได้ออกกำลังกายเคลื่อนไหว ได้เล่นหลากหลาย ฝึกการใช้ร่างกายทุกส่วน การเล่นจะช่วยเพิ่มพัฒนาการทุกด้าน
- “เล่า” พ่อแม่หมั่นพูดคุยสนทนากับลูก เล่านิทานและอ่านหนังสือให้ลูก อย่างน้อยก่อนนอนทุกคืนต้องมีหนังสืออ่านในบ้านเพื่อให้เด็กฝึกจินตนาการ คิดวิเคราะห์และพัฒนาภาษา
- “ฝึกช่วยเหลือตนเอง” เด็กควรได้รับการฝึกให้ช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย เช่น 3 ขวบติดกระดุมเสื้อ สวมเสื้อผ้า ถุงเท้ารองเท้า และเพิ่มความรับผิดชอบตนเองมากขึ้นตามวัย เพื่อความภาคภูมิใจในตนเองและเป็นการฝึกวินัย ฝึกความอดทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในวันหน้า
- “ฝึกทำงานบ้าน” ให้มีประสบการณ์ทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับภาระในครอบครัว ไม่ว่าจะงานบ้าน งานครัว งานสวน ตามบริบทของแต่ละครอบครัว เพื่อให้เด็กเกิดสำนึกคุ้นเคยกับการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน เป็นต้น
พ่อแม่ผู้ปกครองควรได้เรียนรู้หลักการเหล่านี้ และช่วยกันประคับประคอง ค่อย ๆ ให้เด็กมีความสามารถในการกำกับตนเอง ทั้งอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องเด็กปฐมวัยเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%9e%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89/