สมอง 3 ส่วนที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้ เพื่อช่วยดูแลพฤติกรรมเด็ก

ทฤษฎีสมองสามส่วน (Triune Brain) เป็นทฤษฎีที่อธิบายให้เราเข้าใจถึงวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ ว่าบทบาทหน้าที่ของสมองที่สำคัญแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ผู้นำเสนอ คือ นายแพทย์พอล แมคลีน (Paul MacLean) นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สมองของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบใหญ่ ๆ ที่มีบทบาท
และหน้าที่ต่างกัน คือ

1. สมองส่วนสัญชาตญาณ (Brain Stem and Cerebellum) หรือบางครั้งเรียกว่า Reptilian Brain – สมองแบบสัตว์เลื้อยคลาน 

2. สมองส่วนกลาง (Limbic System) บางครั้งเรียกว่า Mammalian Brain – สมองแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

3. สมองส่วนหน้า (Neo Cortex) บางครั้งเรียกว่า Human Brain – สมองมนุษย์

สมองส่วนสัญชาตญาณเพื่อเอาตัวรอด (Fight or Flight or Freeze)

สมองส่วนนี้ทำงานทันทีที่คลอดออกมาจากท้องแม่ เพื่อควบคุมระบบอัตโนมัติของร่างกาย​ (Autopilot) เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจ การทรงตัว อุณหภูมิในร่างกาย ระบบการย่อยอาหาร พฤติกรรมที่สมองส่วนนี้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะเป็นไปตามสัญชาตญาณ ใช้แรงขับตามธรรมชาติเพื่อเอาตัวรอด ด้วยการ สู้ (Fight) หนี (Flight) หรือนิ่งจำนน (Freeze) ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชั้นต่ำไปจนถึงสัตว์ชั้นสูง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ล้วนมีสมองส่วนสัญชาตญาณอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

สมองส่วนอารมณ์ (ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ตีบตัน ไม่คิดต่อ)

เมื่อสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสมองส่วนที่ขยายขึ้นมาเรียกว่า สมองส่วนอารมณ์หรือสมองส่วนกลาง (Limbic System) ซึ่งมีศูนย์ความจำที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส คอยเก็บประสบการณ์ในอดีตไว้ในความทรงจำมีต่อมอะมิกดาลาคอยระวังภัย สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึก อารมณ์ที่เกี่ยวกับความอยู่รอด เช่น กลัว โกรธ ความสุขจากอาหารและเซ็กซ์ สิ่งใดที่กระตุ้นอารมณ์จะทำให้สมองส่วนนี้จดจำเป็นพิเศษ 

สมองส่วนกลางทำให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวันง่ายขึ้น ไม่เสียเวลาคิดในสิ่งที่ไม่จำเป็น กินอาหารที่ชอบ อยู่กับคนที่สบายใจ ในสถานที่คุ้นเคย กับความคิดความเชื่อที่คุ้นชิน แต่หากใช้สมองส่วนนี้มากโดยไม่ฝึกฝนสมองส่วนคิดหรือเหตุผลกำกับไปด้วย จะมีนิสัยเอาง่ายเข้าว่า ตีความสิ่งต่าง ๆ อ้างอิงจากสิ่งที่ตนเองชอบ คุ้นเคยเท่านั้น นำไปสู่ความหุนหันพลันแล่นเอาแต่ใจ หรือมีอคติ สมองส่วนนี้เมื่อแรกเกิดก็พัฒนาขึ้นแล้ว และจะสมบูรณ์เต็มที่ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นตอนต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างสมองส่วนอารมณ์กับส่วนคิดก็คือ เมื่อเราเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย สบายใจ สมองส่วนอารมณ์ก็จะเปิดให้สมองส่วนเหตุผลทำงาน สามารถประมวลผลความจำต่าง ๆ ในอดีต มาใช้ทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี แต่ถ้าสมองส่วนอารมณ์ไม่มีความสุข หงุดหงิด ทุกข์ใจ สมองส่วนคิดก็จะทำงานไม่ดีไปด้วย หรือหากลองนึกภาพง่าย ๆ ตอนที่เราอารมณ์ไม่ดี เรามักจะคิดอะไรไม่ออก ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้นั่นเอง 

สมองส่วนเหตุผล (คิด ไตร่ตรอง)

เป็นสมองที่เรียกว่า Neocortex สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล วางแผน แก้ปัญหาซับซ้อน คิดสร้างสรรค์ และพัฒนาภาษา มีสมองส่วนหน้าบริเวณหลังกะโหลกหน้าผาก ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ ประมวลผลจากทุกส่วนในสมองแล้วนำมาตัดสินใจที่สมองส่วนหน้านี้ เรียกว่า Brain Executive Functions : EF ที่เปรียบเป็น CEO ของชีวิต คอยควบคุมการคิด อารมณ์ การกระทำผ่านการฝึกฝน จนกว่าสมองส่วน EF จะสมบูรณ์เต็มที่ในช่วง 25 – 26 ปี

ในแต่ละสถานการณ์ ส่วนไหนชนะ ขึ้นอยู่กับส่วนไหนถูกฝึกมาให้แข็งแรงกว่า

การทำงานของสมอง 3 ส่วนนั้น มีผู้เปรียบเทียบว่า เสมือน Battle in the Mind ในแต่ละสถานการณ์ที่เราเผชิญ สมองส่วนกลางที่เอาแต่อารมณ์ เอาความพึงพอใจเข้าว่า จะทำงานก่อน แล้วสมองส่วนหน้าที่คิดเหตุคิดผลและมุ่งสู่เป้าหมายที่ไกลกว่า ดีกว่า จึงทำงานตามหลัง สมองส่วนไหนแข็งแรงกว่าก็จะ “ชนะสงคราม” กล่าวคือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของเราในเรื่องนั้น ๆ คนที่ได้รับการฝึกฝนสมองส่วนหน้ามาอย่างดี มักจะสามารถใช้เหตุใช้ผลก่อนอารมณ์ได้ หรือใช้ความคิดเอาชนะความกลัวตามสัญชาตญาณได้

พ่อแม่รู้สมอง 3 ส่วน เพื่อเข้าใจ และจัดการให้เกิดผลตามที่ควร

หลังสถานการณ์โควิด ลูกหลานปฐมวัยของเราถูกจำกัดโอกาสในการพัฒนาทุกด้านตามปกติ ไม่ได้ไปโรงเรียนไม่เจอเพื่อน ไม่ได้พัฒนาตามกิจกรรมของโรงเรียน และมักได้เล่นมือถือมากกว่าปกติ ซึ่งเราจะเห็นว่าพฤติกรรมของเด็ก ๆ ไม่เป็นไปตามที่ควร เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเอง ความเข้าใจเรื่องสมองสามส่วนนี้ จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติภายในตัวเด็ก ซึ่งกำหนดพฤติกรรมที่แสดงออกมา เช่น การที่ลูกก้าวร้าวนั้น เป็นเพราะสมองส่วนสัญชาตญาณกำลังกลัว ก็เลยต้องสู้เพื่อเอาตัวรอด หรือการที่ลูกโกหก เพราะกลัวถูกทำโทษที่ทำของเสียหาย ก็เลยเอาตัวรอดด้วยการโกหก ซึ่งหากเราเข้าใจ จะทำให้เราใจเย็นลง ไม่ด่วนลงโทษหนัก เมื่อเข้าใจว่าน่าจะมาจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอด เราก็ต้องทำให้เขามั่นใจว่า เราไม่ทำร้ายลงโทษ แต่เรากอด รับฟังเขาอย่างตั้งใจ พูดดี ๆ เมื่อเขาสงบนิ่ง ไม่มีความกลัวแล้ว จึงค่อยพูดจา สอนเขาให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไป  

หรือหากอารมณ์ของลูกพุ่งสูงขึ้น โกรธมาก ไม่พอใจมาก ก็ไม่ด่วนหักล้างหรือปะทะหรือเอาแต่สั่งสอนใช้เหตุผลแต่ค่อย ๆ ทำให้สมองส่วนอารมณ์นิ่งสงบลงก่อน ดังที่ ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้เชียวชาญการสร้างแนววินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริม EF ที่แนะนำว่า “ปลอบก่อน สอนทีหลัง” เมื่อสมองส่วนอารมณ์สงบนิ่งแล้ว จะสอนให้เข้าใจเหตุผลใด ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก

หากเราต้องการให้ลูก ๆ ของเราเป็นคนควบคุมตนเองได้ มีเหตุมีผล อดทนเป็น เราต้องสนใจให้ความรัก รับฟังความรู้สึกของเขา เติมเต็มส่วนสำคัญที่สมองส่วนกลางต้องการก่อน แล้วค่อยสอนให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไตร่ตรอง ใช้เหตุผล เวลาที่อารมณ์ยังไม่สงบ ไม่ควรรีบเอาเหตุผล บังคับหรือลงโทษ เพราะเด็กจะยิ่งต่อต้าน หรือไม่ก็กลัวไปเลย

โปรดระลึกไว้เสมอว่า สมองส่วนหน้าที่คิดวิเคราะห์ได้ ควบคุมกำกับตนเองได้นั้น จะทำงานได้ดีเมื่อสมองส่วนกลางสงบลง

เอกสารอ้างอิง

ปรารถนา หาญเมธี. (2566). สมอง 3 ส่วนที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้ เพื่อช่วยดูแลพฤติกรรมเด็ก. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2567 จาก https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%
B8%87-3%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B
8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B/

วิริยาภรณ์ อุดมระติ. (2565). การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. เอกสารวิชาการ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

Science of Psychotherapy. (2016). The Triune Brain.  สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.thescienceofpsychotherapy.com/