การเรียนออนไลน์

ภาพ: https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/tcatg210601145111198

การเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 แม้จะมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างภาระและความยากลำบากให้กับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก เพราะต้องปรับตัวหลายด้าน เช่น ต้องจัดหาอุปกรณ์ให้ลูก จัดพื้นที่การเรียนภายในบ้าน ต้องเรียนรู้ไปกับลูก ต้องสอนการบ้าน และขณะเดียวกันยังต้องทำงานหารายได้ไปด้วย จึงเป็นภาวะที่ครอบครัวต้องเผชิญความสับสน และเกิดความเครียด เช่น หลายครอบครัวผู้ดูแลเด็กต้องออกไปทำงาน และทิ้งให้เด็กเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านตามลำพัง ต้องติดตามลูกผ่านไลน์กลุ่มห้องเรียน และต้องโทรศัพท์บอกลูกว่ามีการบ้านอะไรหรือครูสั่งงานอะไรกลับจากทำงานต้องสอนการบ้านลูกจนดึกดื่น บางครอบครัวไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณไม่ดี ทำให้เด็กเรียนไม่ทันเพื่อน บางครั้งต้องไปอาศัยอินเทอร์เน็ตของเพื่อนบ้าน บางครอบครัวมีลูกหลายคน อุปกรณ์ที่ใช้เรียนไม่เพียงพอ ทำให้บางคนต้องเสียสละหรือผลัดเปลี่ยนกันเรียน ขณะที่ปู่ย่าตายายที่ต้องดูแลหลานเรียนออนไลน์ก็มีปัญหาเรื่องของการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

ขณะเดียวกันเด็กในครอบครัวยากจน ก็ขาดโอกาสที่จะได้เรียนออนไลน์โดยสิ้นเชิง เพราะเงินที่หาได้มีไว้สำหรับซื้อข้าวกินเท่านั้น คงไม่พอที่จะเจียดให้กับอุปกรณ์ และอินเทอร์เน็ต ที่หากจะใช้เรียนแบบไม่สะดุดก็ต้องซื้อโปรโมชันที่แพงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จากการศึกษาพบว่า นักเรียนจากครัวเรือนที่ยากจนในเขตเมืองทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคใต้ มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มขึ้นมากที่สุด อันเนื่องมาจากผลรวมของต้นทุนค่าเสียโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การสูญเสียการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียน และการลดการเรียนในแต่ละวิชา โดยปรับไปเรียนแบบผสมผสาน

การเรียนออนไลน์ มีผลกระทบต่อเด็กหลายด้าน หลัก ๆ คือ ความเครียด ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง การบ้านเยอะ หรือไม่มีคนสอนการบ้าน เด็กรู้สึกเหงา เบื่อ เหนื่อย อยากไปโรงเรียน เด็กหลายคนเรียนตามเพื่อนไม่ทัน ไม่เข้าใจบทเรียนก็ทิ้งกลางคัน ลาออกหรือพักการเรียน มีปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

การเรียนออนไลน์จึงทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ ) เมื่อปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 1 พบว่า มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษ ที่เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษารวมประมาณ 1.9 ล้านคน นับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับทั้งหมดประมาณ 9 ล้านคน เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาปี 2564 ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าจะสามารถกลับเข้าเรียนต่อได้หรือไม่ มีจำนวน 43,060 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 จำนวน 33,710 คน รองลงมาคือ ป.6 ขึ้น ม.1 จำนวน 8,699 คน และอนุบาล 3 ขึ้น ป.1 จำนวน 604 คน ปัญหาสำคัญเกิดจากการที่ครอบครัวมีรายได้ลดลงในช่วงโควิด-19 เฉลี่ย 1,094 บาท ต่อเดือน หรือ 36 บาทต่อวัน บางครอบครัวต้องย้ายกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เพราะไม่มีงานทำ จึงทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อความไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์ก็เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน ไม่มีอุปกรณ์การเรียนทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน ไม่เข้าใจ เหล่านี้ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบไปโดยปริยาย กสศ. คาดการณ์ว่า สิ้นปี 2564 จะมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวนมากถึง 65,000 คน จึงเป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาที่ต้องหาแนวทางการแก้ไข เพราะหากเด็กเหล่านี้หลุดจากระบบอย่างถาวร อาจจะทำให้กลายเป็นคนด้อยโอกาสและมีความเปราะบางในระยะยาวได้

ดังนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาโดยเร็ว ก็จะสามารถแก้โจทย์ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วยอย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์ มีข้อดีอยู่บ้างบางประการ เช่น เด็กไม่ต้องตื่นแต่เช้าเสียเวลาฝ่ารถติดเดินทางไปโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในเมือง เด็กมีเวลาและสามารถเรียนรู้จากช่องทางอื่นได้มากขึ้น ครอบครัวมีโอกาสใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นและช่วยลดปัญหาสำหรับเด็กบางคนที่เมื่อไปโรงเรียนมักถูกเพื่อนแกล้ง (bully) ได้ นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์ ยังช่วยเปิดโอกาสให้เด็กที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลาย ทั้งนี้ ต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็กให้มากกว่าการเรียนเพื่อแข่งขัน

ในช่วงที่เด็กเรียนออนไลน์ ความช่วยเหลือจากภาครัฐมีเพียงมาตรการเยียวยาเงิน 2,000 บาท เพื่อให้เด็กนำไปจ่ายค่าเทอม ค่าไฟฟ้า และค่าอินเทอร์เน็ต แต่ขั้นตอนกว่าจะได้เงินนั้นต้องเตรียมเอกสารมากมาย ทั้งให้กรอกแบบฟอร์ม แนบสำเนาบัตรประชาชนของเด็ก ของผู้ปกครอง และหน้าสมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้น บางโรงเรียนให้ผู้ปกครองเดินทางมายื่นเอกสารพร้อมรับเงินด้วยตัวเองที่โรงเรียน มิหนำซ้ำยังมีข่าวที่โรงเรียนเอกชนบางแห่งหักเงินเหล่านี้จากผู้ปกครองที่ติดค้างค่าเล่าเรียน ส่วนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย รัฐบาลเยียวยาเพียง 5,000 บาทต่อคน เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). สุขภาพคนไทย 2565 : ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19. สืบค้น 2 มกราคม 2566, จาก : https://www.thaihealth.or.th/e-book/thai-health-2022/
  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). สุขภาพคนไทย 2565 : ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).