Learning Loss ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย

“โควิด19” ตัวเร่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย ปัจจัย
จากสถานะเศรษฐกิจครัวเรือนที่แตกต่างการฟื้นฟูต้องทำเป็นรายบุคคล สนับสนุนให้ตรงกับ
ความต้องการ เพิ่มวิธีการเรียนรู้จากเครื่องมือที่หลากหลาย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง  โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กนักเรียน ที่การพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งวิชาการ อารมณ์ และสังคมต้องหยุดชะงัก  เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีมาช้านานจนเกิดภาวะสะสม ส่งผลให้การศึกษาทางไกลไม่สามารถ
ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคลได้

โดยจากผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายในครัวเรือน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562  พบว่าครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนมาก ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ขณะที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่านักเรียน
ในโรงเรียนที่มีฐานทางเศรษฐกิจและสังคม เพียงร้อยละ 25 ซึ่งอยู่ลำดับล่างสุดจากดัชนีชี้วัด 
Economic Social  and Cultural Status หรือ ESCS โดยโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) มีนักเรียนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียง ร้อยละ 61 เท่านั้น และนักเรียน 1 ใน 4 ยังไม่มีพื้นที่เงียบสงบสำหรับการเรียนหนังสือในบ้าน

จากข้อจำกัดทางสถานะทางเศรษฐกิจครัวเรือนส่งผลให้การเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน
ลดลง นำไปสู่ภาวะ Learning Loss  หรือ การเรียนรู้ถดถอย เกิดปัญหาเชิงคุณภาพ ซึ่งเด็กเล็ก
ในระดับอนุบาล เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการปิดโรงเรียน โดยจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการปิดโรงเรียนทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 1-2 จากการเรียนรู้ในการเปิดเรียนปกติ

ผศ.ดร.ยศวีร์  สายฟ้า  รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำจำกัดความ Learning Loss  หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย ไว้ในการเสวนา ชวนคิดชวนคุย ชวนผู้เชี่ยวชาญ
มาช่วยเลี้ยงลูก ระบุว่า เป็นภาวะของการเสียโอกาสในการเรียนรู้ที่มีผลทำให้ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสีย ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร  ทักษะด้าน
ความสัมพันธ์จากการที่เด็กบางรายอยู่บ้านจนชิน เมื่อต้องไปโรงเรียนอาจเกิดการกลัวการไปโรงเรียน  เด็กขาดระเบียบวินัยความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในเด็กระดับอนุบาล และประถมศึกษา  
ที่ขาดการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม และทักษะด้านวิชาการอ่าน เขียน

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาค
ทางการศึกษาและประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ระบุถึงภาวะการเรียนรู้ถดถอย
ไว้ใน งานเสวนาออนไลน์ โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิดว่า เด็กนักเรียนแต่ละคน
มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้ และไม่ได้รับการดูแล
ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยก็มีมา
ช้านาน เมื่อเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดช่องว่างมากยิ่งขึ้น
แม้นโยบายทางการศึกษาจะต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันก็ตาม แต่วิธีปฏิบัติจริงกลับเป็นการ
สร้างความแตกต่าง ตั้งแต่เรื่องงบประมาณของแต่ละโรงเรียน ที่ให้ทุกโรงเรียนเท่ากันหมด ในขณะที่
ความต้องการของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน จึงเป็นการสร้างความด้อยโอกาสให้กับโรงเรียนที่อยู่
ห่างไกล เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเมื่อต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียนเพิ่ม รวมไปถึงการจัดการศึกษา
ที่ต่างกันของโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เด็กส่วนหนึ่ง
ต้องประสบกับปัญหาภาวะถดถอยทางการศึกษามากขึ้น

ดังนั้น การจะฟื้นฟู Learning Loss  หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
ให้กับเด็กได้อย่างครอบคลุมให้ได้นั้น ต้องทำเป็นรายบุคคล เพราะภาวะการถดถอยของนักเรียน
แต่ละคนแตกต่างกัน ครูและสถานศึกษาจะต้องนำผลการเรียนรู้ที่นักเรียนควรจะได้รับไป
เปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการ
ของนักเรียนแต่ละราย ส่วนการลดเนื้อหาในการเรียนสิ่งที่ไม่จำเป็น และเพิ่มวิธีการเรียนรู้โดยการ
ใช้เครื่องมือที่หลากหลายก็เป็นอีกทางเลือกสำคัญในการรับมือกับความต้องการของเด็กนักเรียน
แต่ละคนที่แตกต่างกัน

ดร.นรรธพร  จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม เคยแนะ
5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยไว้ ในกิจกรรรมอบกล่อง Learning Box ว่า  จะต้องเริ่มจากการประเมินสภาพแวดล้อมของเด็กและครอบครัว  ช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ต้องวางแผน
ของโรงเรียนทั้งระบบ สนับสนุนเครื่องมือและการพัฒนาครู  ติดตามและปรับปรุงในระยะสั้น
เพื่อแก้ปัญหาให้ทัน

  ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษามาโดยตลอด
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)ได้มีการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาส
ทางการศึกษาพบว่าการจะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กลับมาเท่าเดิมนั้น  ควรต้องมีการปฏิรูป
ตั้งแต่โครงสร้างและนโยบาย  ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เพราะเด็ก
ถือว่าเป็นความหวังและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Movement. (2564). Learning Loss ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย. สืบค้น 2 ตุลาคม 2566, จาก  https://research.eef.or.th/learning-loss-recession/