เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

การทุ่มเททรัพยากรรัฐจำนวนมากเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดส่งผลให้บริการสาธารณะ
ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญลง และไม่
สามารถจัดบริการให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพดังเดิม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เด็ก เยาวชน
และครอบครัวต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่มากยิ่งขึ้น

การทุ่มทรัพยากรรัฐเพื่อแก้โควิดทำให้เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการสาธารณสุขลดลง

โรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องระดมสรรพกำลังในการ
แก้ปัญหา ดำเนินนโยบายที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อชะลอความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นั่นส่งผลให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญ จำกัดการเข้าถึง และมีประสิทธิภาพในการบริการที่ต่ำลง

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ ตั้งแต่ไตรมาสแรก
ของปี 2021 อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรก (เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์) ลดลงจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง และลดลงมากที่สุดในไตรมาส 3/2021 (ช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในประเทศไทย) อยู่ที่ร้อยละ 68.9 ยิ่งไปกว่านั้น อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลก่อนคลอด 5 ครั้งตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน จากร้อยละ 79.5 ในไตรมาส 4/2020 เหลือร้อยละ 56.1 ในไตรมาส 3/2021

นอกจากนี้ จำนวนเด็กอายุ 1 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ลดลงจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดราวร้อยละ 10.8 ในช่วงไตรมาส 4/2019 อัตราความครอบคลุมของเด็กอายุ 1 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อยู่ที่ร้อยละ 83.8 และหลังจากปี 2020 เป็นต้นมาลดลงต่อเนื่องในทุกระลอกของการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในไตรมาส 3/2021 ลดลงเหลือร้อยละ 67.6

สำหรับจำนวนเด็กอายุ 7 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ แม้จะไม่ลดลงจากเดิม แต่ความครอบคลุมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดโรงเรียนซึ่งเดิมเป็นสถานที่หลักที่เด็กวัยเรียนจะได้รับวัคซีน

บริการรัฐต้องต่อเนื่อง ทั่วถึง ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือวิกฤต

บริการสาธารณะที่ถูกลดทอนประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ยากขึ้นนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวไทยย่ำแย่ลง มาตรการเร่งด่วนที่สุดที่รัฐควรดำเนินการคือ เร่งเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการสร้างฐานข้อมูลระดับพื้นที่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการและจัดสรรบริการได้อย่างตรงจุด รวมถึงจัดบริการเชิงรุกให้ประชาชนที่เข้าถึงบริการได้ยากหรืออาศัยในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น อาทิ จัดบริการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก จัดสรรนมและอาหารกลางวันให้ถึงมือเด็กในครัวเรือนยากจน โดยอาจดำเนินการทั้งในรูปแบบแจกจ่ายอาหารโดยตรง จัดสรรเงินอุดหนุนให้เพียงพอมากขึ้น หรือใช้ระบบคูปองแลกอาหาร ตลอดจนให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ครัวเรือน

มากไปกว่านั้น ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของรัฐ ผ่านการวางแผนจัดกำลังบุคลากรและทรัพยากรให้สามารถดูแลสุขภาพขึ้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพแม้ในยามวิกฤต ตลอดจนเตรียมแผนรับมือหากต้องเพิ่มกำลังบุคลากรและทรัพยากรในสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น การอบรมทักษะการให้บริการที่จำเป็นแก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ท้ายที่สุด ควรเพิ่มทางเลือกการใช้บริการสาธารณะให้ประชาชนอย่างครอบคลุมและเข้าถึงได้จริง เช่น บริการสาธารณสุขใกล้บ้านและชุมชน และระบบการให้บริการทางไกล เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์). เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2566 จาก  https://kidforkids.org/child-and-family-situation-report-2022/service-accessibility/