โรคเบาหวานในเด็กพบได้บ่อยขึ้นและเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าคิด ถึงเวลารวมประเด็นเรื่องโรคเบาหวานในเด็กฉบับคร่าว เฝ้าสังเกตอาการลูกก่อนเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที
เบาหวานในเด็กก็เกิดขึ้นได้
โรคเบาหวาน (Diabetic Mellitus) คือภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปรกติและอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA: Diabetic Ketoacidosis) เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในระยะยาวอาจทำให้อวัยวะสำคัญในร่างกายเสียหาย เช่น เบาหวานที่จอประสาทตา ภาวะไตทำงานบกพร่อง โดยทั่วไปโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- เบาหวานชนิดที่ 1 พบตั้งแต่เด็ก ซึ่งเกิดจากเซลล์เบต้าในตับอ่อนถูกทำลาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะอ้วน พันธุกรรมร่วมกับพฤติกรรมการทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน โดยร้อยละ 50 – 75 ของผู้ป่วยมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘อินซูลิน’
อินซูลินเป็นฮอร์โมนจากตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่คอยคุมสมดุลน้ำตาลในเลือดให้พอเหมาะนำไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในระยะแรกผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีภาวะดื้ออินซูลิน กล่าวคืออินซูลินทำงานได้ไม่ดี ทำให้ระดับอินซูลินสูงขึ้น และอาจเกิดภาวะซ้อนทางตับไตและรับประทานยารักษาแล้วไม่ได้ผล ดังนั้นการฉีด ‘อินซูลิน’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขณะเดียวกันหากผู้ป่วยได้รับอินซูลินมากเกินไปจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งส่งผลให้เหงื่อออกและอ่อนเพลีย
ลักษณะอาการ
เราสามารถสังเกตสัญญาณโรคเบาหวานในเด็กได้ดังต่อไปนี้
- เริ่มปัสสาวะรดที่นอนแม้เติบโตเป็นวัยรุ่น
- ปัสสาวะมากและบ่อย
- กระหายน้ำและดื่มน้ำมากกว่าปรกติ
- รับประทานอาหารมาก แต่น้ำหนักลด บางรายอาจมีภาวะอ้วนร่วม
- มีปื้นดำหนาตามคอ รักแร้ ขาหนีบซึ่งขัดถูไม่ออก
- ติดเชื้อราตามผิวหนัง
- เริ่มคลื่นไส้ อาเจียน หอบ เหนื่อยเมื่อผ่านไปราว 2 -3 สัปดาห์ อันเนื่องจากภาวะเลือดเป็นกรด
การวินิจฉัย
เมื่อพบอาการผิดปรกติดังกล่าว แพทย์จะเริ่มตรวจวินิจฉัยระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งตรวจได้หลายรูปแบบ
- ตรวจน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) อย่างน้อย 8 ชั่วโมงหากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มก./ดล. ก็มีโอกาสเป็นเบาหวาน
- ตรวจความทนทานต่อกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test) ด้วยการให้รับประทานกลูโคส 75 กรัม หาก 2 ชั่วโมงผ่านไปแล้วระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงกว่า 200 มก./ดล. ก็แปลว่ามีแนวโน้มเสี่ยงเป็นเบาหวาน
- ตรวจค่าน้ำตาลสะสม (Hemoglobin A1C) เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยว่าเกินกว่า 6.5 หรือไม่ หากเกินก็เป็นโรคเบาหวานได้เหมือนกัน
วิธีการรักษา
กรณีผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จะรักษาได้ด้วยการให้อินซูลินเป็นมาตรฐาน หากเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะเริ่มให้การรักษาด้วยการรับประทานยา ในบางรายอาจใช้อินซูลินร่วมในการรักษา
ป้องกันก่อนเกิดได้ทันกาล
แม้เบาหวานชนิดที่ 1 นั้นยังไม่สามารถป้องกันได้ ทว่าเราสามารถป้องกันโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากลูกน้อยได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทาน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง ออกกำลังกายเป็นประจำก็มีส่วนช่วยทุเลาจากภาวะดื้นอินซูลินลง