การเลี้ยงด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด : อะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก?

ไม่ว่าการคลอดจะเกิดขึ้นที่ใด จะเป็นที่กระท่อมหลังน้อย ๆ ณ หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง
หรือจะเป็นโรงพยาบาลในเมืองขนาดใหญ่ การให้เด็กน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้กินนมแม่ภายใน
หนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด เป็นการช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสที่ดีเยี่ยมในการที่จะได้มีชีวิตอยู่รอด เติบโต และได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

องค์การยูนิเซฟ และ องค์การอนามัยโลก แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารอื่นใดควบคู่เลยในระยะเวลาหกเดือนแรกนั้นจะช่วยเสริมพัฒนาการ
ทั้งด้านประสาทการรับรู้และการรู้คิด อีกทั้งยังช่วยปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่เราจะคาดหวังให้คุณแม่ทำเพียงลำพัง การให้เด็กได้กินนมแม่โดยเร็ว
และได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ต้องได้รับการสนับสนุนจากหลาย
ภาคส่วน ตั้งแต่ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ภาครัฐ รวมไปถึงภายในครอบครัวด้วย และเมื่อเราพูดถึงเรื่องการให้นมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอดแล้ว ต่อไปนี้คือสิ่งที่เวิร์ก และไม่เวิร์กในการ
ให้นมลูกภายในหกเดือนแรกหลังคลอด

สิ่งที่เวิร์ก : ให้ทารกน้อยได้รับการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อโดยทันทีหลังคลอด

การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายของทารกแรกเกิดให้คงที่ และให้โอกาสทารกได้รับแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์จากผิวหนังของคุณแม่ แบคทีเรียดีเหล่านี้ช่วยปกป้องทารก
จากการติดเชื้อ และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้พวกเขา

การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอดไปจนถึงตอนให้นมเป็นครั้งแรกยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่ามันช่วยเพิ่มโอกาสที่ทารกน้อยจะได้กินนมแม่ ช่วยให้ระยะเวลาในการ
เลี้ยงลูกด้วยนมยาวนานขึ้น และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว

สิ่งที่ไม่เวิร์ก : การให้ทารกน้อยทานอาหารเสริมหรือนมชง

การให้ทารกน้อยได้ทานอาหารเสริมอื่นใดนอกเหนือไปจากนมแม่ในวันแรก ๆ หลังคลอด
เป็นเรื่องปกติของหลาย พื้นที่บนโลก และมักจะถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว นโยบายของโรงพยาบาล หรือระเบียบปฏิบัติอื่นใดที่ไม่ได้มีพื้นฐานอ้างอิง
ทางวิทยาศาสตร์ โดยแนวปฏิบัติเหล่านี้มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งอาจรวม
ไปถึงการทิ้ง “นมเหลือง” หรือ คอลอสตรัม (Colostrum) ซึ่งเป็นน้ำนมแรกสุดจากคุณแม่ที่อุดม
ไปด้วยสารภูมิคุ้มกัน หรือการให้คุณหมอหรือผู้อาวุโสในครอบครัวให้อาหารบางอย่างแก่ทารก เช่น นมชง น้ำผสมน้ำตาล หรือน้ำผึ้ง แนวปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้สัมผัสแรกที่สำคัญระหว่างคุณแม่และทารกน้อยต้องล่าช้าออกไป

สิ่งที่เวิร์ก : การคลอดบุตรในโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

โรงพยาบาลหรือศูนย์อนามัยที่ “ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” จะให้การสนับสนุนคุณแม่
ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยปฏิบัติตามบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สถานพยาบาลเหล่านี้จะให้คำปรึกษาแก่คุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรหรือตัดสินใจที่จะไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการสอนให้พวกเขาใช้น้ำนมจากผู้บริจาค หรือให้ได้ทานนมผงที่ปลอดภัย

ในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา หรือ เติร์กเมนิสถาน โรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูก
ด้วยนมแม่ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เกือบร้อยละ 90 ของผู้หญิง
ในประเทศเติร์กเมนิสถาน และคุณแม่เกือบทุกคนในประเทศศรีลังกา คลอดบุตรในโรงพยาบาล
ที่ได้รับการรับรองว่าส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งสองประเทศต่างก็มีอัตราการเลี้ยงลูก
ด้วยนมแม่ที่สูง

สิ่งที่ไม่เวิร์ก : การผ่าตัดคลอดโดยปราศจากการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การคลอดบุตรด้วยวิธีผ่าตัดคลอด หรือ ซี-เซ็กชัน มีอัตราที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในหลายประเทศ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการทำคลอดด้วยวิธีผ่าตัดคลอด

คุณแม่ที่คลอดบุตรด้วยวิธีผ่าตัดคลอด จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการหลังจากคลอดบุตร อาทิ ผลจากยาสลบ การฟื้นตัวจากการผ่าตัด ตลอดไปจนถึงการหาคนช่วยให้สามารถ
อุ้มทารกน้อยได้อย่างปลอดภัย แต่หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เช่น ให้การอบรม
แก่ผู้ทำคลอด การวางนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแผนกสูติกรรม การให้คุณพ่อได้มีส่วนร่วม
ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เด็กที่เกิดจากวิธีผ่าตัดคลอดส่วนใหญ่จะสามารถได้กินนมแม่ภายใน
ชั่วโมงแรกหลังคลอดได้

สิ่งที่เวิร์ก : ผู้ทำคลอดได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ในประเทศรวันดา อัตราการคลอดบุตรโดยผู้ทำคลอดที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2557 โดยทารกแรกเกิดเกือบทุกคนที่เกิดในสถานพยาบาลได้รับการช่วยเหลือจากผู้ทำคลอดที่มีทักษะความเชี่ยวชาญ ในช่วงเวลานี้ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมของแม่จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย ความคืบหน้าดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในโรงพยาบาลต่าง ๆ

ปัจจุบัน ประเทศรวันดามีเจ้าหน้าที่สุขภาพชุมชนจำนวน 45,000 คน คอยให้คำปรึกษาแก่
คุณแม่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการให้อาหารและการคลอดที่ปลอดภัย และแม้ว่าอัตราการผ่าตัดคลอดจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2556 แต่ตัวเลขการเพิ่มดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบ
ต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอด ทั้งนี้เป็นเพราะการที่เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีนั่นเอง

สิ่งที่เวิร์ก : การให้ลาเพื่อครอบครัวแบบได้รับค่าจ้าง

ผู้หญิงทำงานไม่ควรต้องเลือกระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการทำงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้สิทธิผู้หญิงในการลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 18 สัปดาห์ และให้แน่ใจว่าพวกเธอจะมีเวลาและพื้นที่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายหลัง
ที่พวกเธอกลับเข้าไปทำงาน ยูนิเซฟแนะนำให้ยึดแนวทางดังกล่าวเป็นความต้องการขั้นต่ำ

สิ่งที่ไม่เวิร์ก : สถานที่ทำงานที่ไม่มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อการเลี้ยงลูก
ด้วยนมแม่

เมื่อเหล่าคุณแม่กลับไปทำงาน พวกเธอต้องการการสนับสนุนจากนายจ้างเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ สิทธิในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญอันยิ่งยวด
ต่อผู้หญิงทุกคนที่ต้องการเลี้ยงลูกของพวกเธอด้วยนมแม่ต่อไป เช่นเดียวกับการจัดให้มีเวลา
และพื้นที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจัดให้มีพื้นที่สำหรับปั๊มนมและเก็บนมแม่

เอกสารอ้างอิง

ยูนิเซฟประเทศไทย. (2561). การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด : อะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก?. สืบค้น 4 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/uev8Y