เตรียมให้พร้อม รับมือกับภาวะคุณแม่หลังคลอด

วินาทีที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก คำว่า “ แม่ ” ได้เริ่มทำงานอย่างสมบูรณ์ มีหลายอย่างที่คุณแม่
ต้องเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกับลูกน้อย อีกทั้งคุณแม่ยังต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย
ทั้งในด้านร่างกายและด้านอารมณ์ ดังนั้นการปฏิบัติตัวหลังคลอดและการรู้เท่าทันภาวะต่าง ๆ
จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคุณแม่มือใหม่

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

เมื่อคุณแม่คลอดลูกมาแล้วนั้น ร่างกายหลังคลอดประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ โดยส่วนของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์จะค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งในระยะนี้
คุณแม่จะมีน้ำคาวปลาซึ่งถูกขับออกมาจากทางมดลูกในช่วง 3 – 4 วันแรกหลังคลอด โดยน้ำคาวปลาที่ออกมาจะมีปริมาณค่อนข้างมากและเป็นสีแดงสด ซึ่งระยะเวลาในการมีน้ำคาวปลาจะแตกต่าง
กันไปตั้งแต่ 2 – 6 สัปดาห์ ดังนั้นคุณแม่จึงต้องควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการใส่ผ้าอนามัยและหมั่นคอยดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ

อาการเจ็บเต้านม คุณแม่อาจมีอาการเต้านมแข็ง ตึง และมีอาการปวดลานนม เนื่องจาก
เต้านมจุน้ำนม จนเต็มแล้วและไม่ถูกระบายออก จนเกิดแรงดันสูงภายในเต้านม ทำให้ไปขัดขวาง
การไหลของน้ำนม คุณแม่หลังคลอดจึงควรให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ทุก 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำนม
ได้ระบายออกให้ได้มากที่สุด

อาการผมร่วง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยทั่วไปอาการผมร่วงนี้จะหายไป
ได้เองภายใน 6 – 12 เดือน เมื่อฮอร์โมนกลับสู่ระดับปกติ

อาการท้องผูก อาจเกิดจากภาวะริดสีดวงทวาร หรือคุณแม่มีอาการเจ็บแผลหลังคลอด
จนไม่กล้าขับถ่าย คุณแม่จึงควรทานอาหารที่มีเส้นใยสูง และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยให้ขับถ่าย
ได้ง่ายขึ้น

อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากการคลอดอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่
ยืดออก เมื่อมีการไอ จาม หรือหัวเราะ จะทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดออกมาได้ แต่ภาวะนี้จะค่อย ๆ หาย และกลับมาเป็นปกติได้ประมาณ 3 สัปดาห์

ผิวแตกลาย คุณแม่หลังคลอดส่วนมากจะมีผิวหน้าท้องแตกลาย เกิดจากการขยาย
ของผิวหนังอย่างรวดเร็วขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถใช้ครีมบำรุงทาบริเวณหน้าท้องที่แตกลาย
จะช่วยลดเลือนริ้วรอยได้

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์

นอกจากด้านร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ด้านอารมณ์ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คุณแม่หลายท่านอาจต้องเผชิญกับ “ภาวะเศร้าหลังคลอด” (Postpartum blue หรือ Baby Blue)
ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในคุณแม่มือใหม่ที่ยังปรับตัวหลังคลอด
ไม่ได้ จะมีอาการหงุดหงิด เศร้า เสียใจ อารมณ์แปรปรวนง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีความกังวลเรื่องลูก ระยะเวลาของอาการนี้อาจอยู่ประมาณ 5 วัน  หลังคลอด และจะหายไปเองภายใน
2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละคน ช่วงนี้กำลังใจและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากคน
ในครอบครัวจะช่วยให้อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องทำการรักษา

นอกจากนั้นในคุณแม่บางรายอาจมีอาการของ “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” (Postpartum depression) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอด มักจะเกิดขึ้นในปีแรกหลังคลอด
โดยระยะอาการมีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงหลายเดือน หรือเป็นปี คุณแม่จะมีอาการหงุดหงิด
วิตกกังวล นอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อย เก็บตัว หรืออาการหนัก คือ คิดทำร้ายตัวเองและลูก ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยการเข้ารับการบำบัดโดยนักจิตวิทยา เพื่อทำความเข้าใจ
กับอาการต่าง ๆ และรีบแก้ไขให้ทันท่วงที สำหรับความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ คนในครอบครัว
เป็นกำลังใจสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงนี้ไปได้

จึงกล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงหลังคลอดนั้นมีหลายอาการที่คุณแม่ต้องพบเจอ ดังนั้นคุณแม่จึงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ว่ามีสภาวะหรือความเปลี่ยนแปลงกับร่างกายและอารมณ์ของตนเองมากน้อยเพียงใด หากพบอาการจะได้รีบปรับพฤติกรรมและรีบแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อจะได้
เป็นผลดีต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อย

เอกสารอ้างอิง

สังวาลย์ เตชะพงศธร. (2564). ภาวะหลังคลอด ที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือ. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/dUMD7

โรงพยาบาลกรุงเทพ. (2565). การปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/7sTte

โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4. (2565). การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/FsbQk

โรงพยาบาลเพชรเวช. (2565). ภาวะหลังคลอดบุตร. สืบค้น 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/AnFpz

โรงพยาบาลพิษณุเวช. (2565). ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่หลังคลอด. สืบค้น 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/RkyzC