การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach) กับเด็กปฐมวัย

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach)

การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เกิดจากแนวคิดของ ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่
(Dr. Maria Montessori) แพทย์หญิงชาวอิตาลีที่ได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยใช้วิธีการคิดขึ้นเองจนประสบผลสำเร็จ ต่อมาจึงได้เผยแพร่ความคิด โดยการเขียนหนังสือ และจัดอบรมแก่ผู้ที่สนใจวิธีการสอนนี้ทั้งในภาคทฤษฎี และปฏิบัติ
ต่อมาได้พัฒนาวิธีการสอนให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นวิธีสอนสำหรับเด็กทั่วไปอีกด้วย

การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ Montessori  นับเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอน
ที่หลายโรงเรียนในปัจจุบันทั้งโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาทั่วโลก นำเอาวิธีการสอน
แบบมอนเตสซอรี่นี้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก เนื่องด้วยรูปแบบการเรียนการสอน
แตกต่างไปจากที่เคยมีทั่วไป จากการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กนั่งเรียนในห้องเรียนส่วนใหญ่
และสอนแบบเน้นท่องจำ แต่สำหรับการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ Montessori เป็นการเรียน
การสอนที่เน้นเด็กเป็นหลักสำคัญ ให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ และซึมซับ
การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว และเลือกกิจกรรมที่เขาสนใจเองได้ ผ่านประสาทสัมผัส
ทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และมือ ไม่เน้นการท่องจำ เมื่อเด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ก็จะทำ
ออกมาได้ดี โดยในการเรียนการสอนจะมีครูที่คอยให้คำแนะนำและสาธิตการใช้อุปกรณ์การเรียน
ในครั้งแรก ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้ อยากเห็น และเริ่มเรียนรู้ด้วยตนเองส่งผลให้เด็กมีสมาธิ
มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น และสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ เมื่อเด็กทำออกมาได้ดี เด็กจะรู้สึกได้รับ
การยอมรับและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ  ซึ่งส่งผล
ต่อการสร้างพัฒนาการที่ดีในขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ         

หลักการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่

เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ควรจัดการศึกษา
ให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก โดยการพัฒนาการสอนให้สัมพันธ์กับพัฒนาการความต้องการของเด็ก

                  เด็กที่มีจิตซึมซับได้ เปรียบจิตของเด็กเหมือนฟองน้ำ ซึ่งจะซึมซับข้อมูลจาก
สิ่งแวดล้อม เด็กใช้จิตในการหาความรู้ ซึมซับเอาสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในจิตของตนเองได้ ในการพัฒนาของจิตที่ซึมซับได้มีทั้งระดับที่เราทำไปโดยที่รู้สึกตัวและโดยไม่รู้สึกตัว อายุตั้งแต่เกิดถึง 3 ขวบ
เป็นช่วงที่จิตซึมซับโดยไร้ความรู้สึก โดยการพัฒนาประสาทที่ใช้ในการเห็นการได้ยิน การลิ้มรส
การดมกลิ่น และการสัมผัส เด็กจะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่าง

                  ช่วงเวลาหลักของชีวิต  เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับ
การเรียนรู้ของการพัฒนาด้านสติปัญญา และจิตใจ ในช่วงเวลานี้ เด็กควรมีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ

                  การเตรียมสิ่งแวดล้อม มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กเรียนได้ดีที่สุดจากการจัด
สภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมอย่างมีระบบ และมีจุดมุ่งหมายไปตามขั้นตอน โดยมีสื่ออุปกรณ์
มอนเตสซอรี่เป็นตัวกำหนดขอบเขตในการเรียนการสอน

                  การศึกษาด้วยตนเอง เด็กสามารถเรียนได้ด้วยตนเองจากการที่เด็กมีอิสระ
ในสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมไว้อย่างสมบรูณ์ เด็กได้รู้จักเรียนรู้ระเบียบวินัยของการอยู่ร่วมกัน
ภายในสังคม และมีอิสระในการทำงาน รู้จักเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ และมีความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จในการทำงาน จนทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่น และเห็นคุณค่า
ในตัวเอง

หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่

1. กลุ่มประสบการณ์ชีวิต (Practical Life) กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่-เล็ก
และกล้ามเนื้อมือ ฝึกตา – มือประสานสัมพันธ์ ฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ฝึกการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวฝึกสมาธิในการทำงาน และทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนจบกระบวนการ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานในการเรียนระดับชั้นต่อไป  

จุดมุ่งหมายของกิจกรรมกลุ่มนี้ คือ การพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง สมาธิ การประสาน
สัมพันธ์และระเบียบวินัยในตัวเด็ก กิจกรรมในกลุ่มประสบการณ์ชีวิตแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ

                  1.1 การดูแลกิจส่วนตัว คือ กิจกรรมประเภทที่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราจะพบเห็น
อยู่ประจำ และเกี่ยวข้องกับตัวของเด็ก เช่น ชุดการแต่งกาย เกี่ยวกับการติดกระดุม รูดซิป การขัดรองเท้า ล้างมือ อาบน้ำแต่งตัวตุ๊กตา เป็นต้น

                 1.2 การดูแลสิ่งแวดล้อม คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การปัดฝุ่น
เช็ดโต๊ะ การจัดแจกันดอกไม้ เป็นต้น

                 1.3 ทักษะทางสังคม คือ กิจกรรมทางด้านสังคม การมีมารยาทที่เหมาะสม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การม้วนเก็บเสื่อ และการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น

                 1.4 การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ กิจกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย การเดิน การถือวัสดุอุปกรณ์ เช่น การเดินบนเส้นที่กำหนดให้ ฝึกความสมดุลของร่างกาย การคีบ การเทน้ำ และการตักตามปริมาณช้อนตวง เป็นต้น

 สื่อ และอุปกรณ์ที่ใช้ เป็นสิ่งที่เด็กได้พบเห็น และคุ้นเคยอยู่ในชีวิตประจำวัน เครื่องมือจะจัดให้มีขนาดเหมาะกับเด็ก เพื่อเด็กจะได้ใช้ได้คล่องตัว เนื่องจากเครื่องมือคล้ายกับสิ่งที่เด็กมีใช้ในบ้าน ทำให้เด็กมีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เมื่อเข้าสู่ห้องเรียน กลุ่มวิชานี้นับได้ว่าเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างเด็ก บ้าน และโรงเรียน

2. กลุ่มประสาทสัมผัส (Sensorial Materials) กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกประสาทสัมผัส
ทั้ง 5 อุปกรณ์ต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ จะช่วยให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กันได้อย่างเหมาะสม
เด็กจะได้สำรวจเพื่อค้นหาและทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นเส้นทางการเรียนรู้
โลกภายนอกทำให้สามารถมองเห็นได้กว้าง และไกลด้วยความเข้าใจยิ่งขึ้น

                  จุดมุ่งหมายของกิจกรรมกลุ่มนี้ คือ การฝึกประสาทสัมผัสของเด็ก ฝึกให้เด็กรู้จักสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ เด็กควรมีความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ได้ดี โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก่อนที่จะเรียน เขียนและอ่าน นอกจากนี้กิจกรรมกลุ่มนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถของเด็กในการสังเกตความแตกต่างจุดเด่นการรวมกลุ่ม การจัดระเบียบ และการ
จัดลำดับได้ ซึ่งจะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับการเรียนคณิตศาสตร์อีกด้วย

                  สื่อ และอุปกรณ์ที่ใช้ เป็นอุปกรณ์เพื่อสังเกตความแตกต่างผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยสังเกต ความกว้าง ความยาว ความสูง ขนาด สี เสียง รส เป็นต้น อุปกรณ์ด้านนี้ เช่น หอคอยสีชมพู (Pink Tower) กล่องเสียง (Sound Boxes) บันไดกว้าง/บันไดสีน้ำตาล (Broad/Brown Stairs) ทรงกระบอกมีจุก (Cylinder Blocks) ทรงกระบอกไร้จุก (Knobless Cylinders) ชุดแถบ 3 สี (Third Box of Color Tablets) และ สามเหลี่ยมสร้างสรรค์ (Constructive Triangles)

3. กลุ่มวิชาการ (Academic Materials)  กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปูพื้นฐานความรู้ให้แก่เด็กเกี่ยวกับจำนวนตัวเลข การอ่าน การเขียน และการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พฤกษศาสตร์โดยเด็กจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอนจากรูปธรรม
สู่นามธรรม โดยใช้อุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่เป็นสื่อ

                  จุดมุ่งหมายของกิจกรรมกลุ่มนี้ สำหรับกลุ่มนี้เป็นกลุ่มกิจกรรมที่จัดอุปกรณ์สำหรับการเขียน การอ่าน คณิตศาสตร์ และเสริมทักษะประสบการณ์ การสอนแบบมอนเตสซอรี่นี้ กิจกรรมจะจัดทำเป็นลำดับขั้น โดยทั่วไปแล้วเด็กในห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่ที่มีอายุระหว่าง
อายุ 4 และ 5 ขวบ จะสามารถอ่าน เขียน และคิดคำนวณได้

                  สื่อ และอุปกรณ์ที่ใช้ สำหรับอุปกรณ์ภาษา และการเตรียมการสำหรับการเขียน เช่น แผ่นภาพโลหะ (The Mental Insets) ใช้ในการฝึกการเขียน อักษรเคลื่อนที่ (Movable Alphabet)
ใช้นำมาสร้างคำในการอ่าน สำหรับอุปกรณ์ทางคณิตศาสตร์ เช่น ลูกปัดหลักเลข (Golden Beads) เรียนรู้เลข 1 – 1,000 และหลักเลข หน่วย สิบ ร้อย พันแขนงไม้คณิตศาสตร์ (Number Rods)
บัตรตัวเลขกระดาษทราย (Sandpaper Numerals) นับตะเกียบ (Spindles) และนับกระดุม
(Card and Counter) เรียนรู้จำนวน การนับ เลขคู่ และเลขคี่

โรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีหลายโรงเรียนที่นำเอาวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่นี้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ตัวอย่างรายชื่อโรงเรียน มีดังนี้

โรงเรียนอนุบาลกรแก้ว https://shorturl.asia/ateNp

โรงเรียนอนุบาล 3 ภาษา บ้านต้นไม้  http://www.baantonmai.ac.th/

โรงเรียนอนุบาลวาดฝัน http://www.baanwadfun.ac.th/

โรงเรียนอนุบาลยุวมิตร https://shorturl.asia/aR7PA

Modern Montessori International (MMI) Pre-School https://shorturl.asia/ftPNX

Prep Montessori International Kindergarten https://shorturl.asia/fojin  

Sathit Pathum Demonstration School https://sathitpathum.ac.th/

The International Montessori Center (IMC) https://shorturl.asia/f2xuX 

Chiang Mai Montessori International School https://www.chiangmaimontessori.org/

Montessori House Phuket International School (MHP)  https://shorturl.asia/uCM7j             

สแกนเพื่ออ่านเอกสาร :แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามบริบทไทย : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่
(Montessori Approach)

เอกสารอ้างอิง

ขนิษฐา บุนนาค. (2561). การจัดการเรียนการสอนแบบ มอนเตสซอรี่ สำหรับเด็กปฐมวัย ตอนที่ 1. สืบค้น 9 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/EokAB

จีระพันธุ์  พูลพัฒน์. (2541). การสอนแบบมอนเตสซอรี่. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จากhttps://shorturl.asia/ZWEN9

รักลูก. (2565). รู้จักโรงเรียนแนวการสอนแบบมอนเตสซอรี่ Montessori. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/haHAV

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามบริบทไทย : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach). กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นชูรี่ จำกัด.

OwlCampus. (2564). หลักสูตรมอนเตสซอรี่ Montessori. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2566, จากhttps://shorturl.asia/ouJWV

speakup. (2565). การสอนแบบมอนเตสซอรี่คืออะไร? 5 หลักสูตรที่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก. สืบค้น 8  กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/oqDhV

The 1 Family. (2565). รวมโรงเรียนหลักสูตร Montessori ทั่วไทย ให้คุณหนู ๆ มีอิสระในการเรียนรู้. สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/UesqI