‘สิทธิเด็ก’ เรื่องสำคัญ ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

การละเมิดสิทธิเด็กในสังคมไทย

จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กที่เกิดขึ้นกับเด็กในสังคมไทยที่ผ่านมา มีปัญหาใหญ่ที่พบ
อยู่ 2 กรณี คือ
1) ปัญหาการละเมิดสิทธิทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก
2) ปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของเด็ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ปัญหาการละเมิดสิทธิทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ในประเทศไทยพบว่า มีเด็กจำนวนมากกว่าครึ่ง ของประชากรเด็กที่มีอายุระหว่าง 1-18 ปี ถูกทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายจำนวนมาก โดยมีข้อมูลจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ที่ได้เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2556-2562 ที่ผ่านมา มีกรณีที่บุคคลอื่นกระทำการทารุณกับเด็กอยู่ทั้งสิ้น 482 กรณี
จากทั้งหมด 1,186 กรณี สาเหตุที่ทำให้เด็กถูกทารุณกรรมมาจากหลายสาเหตุ เช่น มาจากตัวของพ่อแม่เด็ก ส่วนมากจะพบในพ่อแม่อายุน้อยที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว ไม่รักและไม่สนใจลูกเท่าที่ควร เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ไประบายอารมณ์กับตัวเด็กที่เป็นลูก สาเหตุต่อมาคือ
เกิดจากตัวของเด็ก เช่น เด็กเลี้ยงยากหรือซนจะทำให้ผู้ปกครองเกิดความไม่พอใจและลงมือทำร้ายร่างกายเด็ก หรือจากสิ่งแวดล้อมที่บีบบังคับ เช่น ครอบครัวยากจน ทำให้เกิดความเครียด และระบายอารมณ์ลงกับตัวเด็ก นอกจากนั้นยังพบอีกว่ายังมีอีกกรณีหนึ่งคือ กรณีของครูหรือบุคลากร
ทางการศึกษากระทำกับเด็ก เช่น ครูดุด่าและตีเด็กเมื่อเด็กทำผิด เป็นต้น

การใช้ความรุนแรงกับเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในการเจริญเติบโตของเด็กทำให้มีพัฒนาการที่ผิดปกติ ขาดสารอาหาร และทำให้เด็กรู้สึกขาดความมั่นคงทางด้านจิตใจ หวาดระแวง ซึมเศร้า และไม่กล้าเข้าสังคม

2) ปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศไทยการที่เด็กคนหนึ่ง
จะแสดงออกทางความคิดของตนได้นั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองของตนเสียก่อน เนื่องจากสังคมไทยถูกครอบด้วยค่านิยมที่ว่า “เป็นเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” ซึ่งค่านิยมนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นค่านิยมที่ผิด แต่ก็มีผู้ใหญ่บางคนได้เผลอใช้ค่านิยมนี้ ในการลิดรอนละเมิดสิทธิ
และเสรีภาพของเด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น พ่อแม่หวังดีต่อตัวลูก โดยการส่งลูกไปให้เรียนพิเศษเพิ่มเติม หรือแม้แต่การเลือกเสื้อผ้า การรับประทานอาหาร ฯลฯ พ่อแม่ต่างก็เป็นผู้จัดหาและเลือกให้เด็กเอง โดยไม่คำนึงถึงความถนัด พัฒนาการ ความชอบ หรือความสนใจของลูก ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด กดดัน จนนำไปสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ตัวของเด็กเองก็มีสิทธิต่าง ๆ และรวมถึงสิทธิในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น ที่ต้องได้รับการรับฟังอย่างสมเหตุสมผลเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ และสามารถใช้เสรีภาพ
ของตนได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ตัวเด็กเองมีความเปราะบางทางด้านความคิดมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะขาดวุฒิภาวะและประสบการณ์ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง หน่วยงาน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีเสรีภาพในการแสดงออก
ทางความคิด ภายใต้ของความถูกต้องและความเหมาะสมต่อบริบทของสังคมและประเทศต่อไป

สิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรได้รับ

ปัจจุบันยังคงมีเด็กและเยาวชนอีกมากมายที่ถูกละเลย ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น
ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความรุนแรงต่อเด็ก ความไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวของเด็กโดยตรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกประเทศ
ทั่วโลกให้ความสนใจ ในปี พ.ศ. 2532 จึงได้มีการจัดทำ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ (UN Convention on the Rights of the Child: CRC) ขึ้น โดยอนุสัญญาดังกล่าวนั้น ได้ระบุว่า สิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็ก
ทุกคนพึงได้รับ ประกอบไปด้วย 4 ประการ ดังนี้

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด โดยจะเริ่มตั้งแต่เมื่อเด็กเกิดขึ้นมาเป็นทารก เด็กที่เกิดมาทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดได้รับการจดทะเบียนเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อ ได้สัญชาติ และได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน รวมทั้งได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม โดยรัฐมีหน้าที่คอยประกันสิทธิ
ต่าง ๆ เหล่านี้ให้แก่เด็ก ทั้งทางด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน อาหารที่ถูกสุขลักษณะตามหลักโภชนาการ สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม
และสติปัญญา เพื่อที่จะให้เด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สำหรับสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กนั้น รัฐต้องคอยคุ้มครองเด็กให้รอดพ้น
จากการแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ที่จะกระทำต่อเด็ก การปกป้องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ หรือการพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรมและสังคม
ของเด็ก รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากการใช้ยาเสพติดหรือสารที่มีพิษต่อจิตประสาทอื่น ๆ ป้องกันการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กโดยถือเอาประโยชน์สูงสุด
ของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา ในเรื่องของการศึกษาและพัฒนาการเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้
ความสำคัญ เริ่มตั้งแต่ที่เด็กจะต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รัฐต้องประกันสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ต้องมีการจัดการศึกษาภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้
โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คอยจัดการศึกษาให้แพร่หลาย เปิดกว้าง และครอบคลุมกับเด็กทุกคน

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม เด็กทุกคนก็คือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับผู้ใหญ่ ถึงแม้เด็กจะมีอายุน้อยกว่าผู้ใหญ่แต่เด็กทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี
โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลต่อตัวของเด็กเอง ซึ่งรัฐก็มีหน้าที่ในการคุ้มครอง และเอื้ออำนวยต่อการแสดงออกของเด็ก รัฐไม่มีอำนาจที่จะจำกัดสิทธิในการแสดงออกของเด็ก โดยไม่ชอบด้วยเหตุผล
และข้อละเว้นของกฎหมายตามความเหมาะสม

จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น
ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และถือเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งในแผนแม่บทสารสนเทศกองทุนคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2566 – 2570 ได้ระบุถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองเด็กขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร และบุคคลแวดล้อมเด็กในการทำงานด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของครอบครัว ชุมชน ขยายปริมาณครอบครัวอุปถัมภ์และผู้ดูแลเด็ก ให้เข้ามามีส่วนร่วม
ในการดูแลคุ้มครองเด็กในระยะยาว และพัฒนาเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนระบบการดำเนินงาน
ด้านการคุ้มครองเด็ก ทั้งในระดับประเทศ จังหวัด และท้องถิ่น ให้สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือคุ้มครองเด็กได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มบริหารกองทุนคุ้มครองเด็ก กองคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2565). ยุทธศาสตร์กองทุนคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2566 – 2570 และแผนปฏิบัติการประจำปีบัญชี 2566. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.dcy.go.th/public/mainWeb/file_download/1662715657882-106613512.pdf

คม ชัด ลึก ออนไลน์. (2552). “สิทธิเด็ก”สิทธิที่สังคมต้องตระหนัก. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.komchadluek.net/scoop/12845

เฝาซี ล่าเต๊ะ. (2564). “ละเมิดสิทธิหนูทำไม?” เสียงเล็กๆที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/865/

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย. (2565). 4 สิทธิเด็ก ที่ทุกคนควรรู้. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.sosthailand.org/blog/child-rights-convention

General Assembly resolution (1990). Convention on the Rights of the Child. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.ohchr.org/en/instruments-mechanisms/instruments/convention-rights-child