สื่อจอใสอันตรายต่อเด็กปฐมวัยกว่าที่คิด

‘สื่อจอใส’ หรือสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ที่ใช้งานผ่านหน้าจอ เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต
ในยุคปัจจุบันของคนเราในทุกช่วงวัยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เด็กปฐมวัย เพราะเด็กสามารถเข้าถึงสื่อ
ได้ง่ายและเข้าถึงได้ทุกที่ อีกทั้งในบางครอบครัวผู้ปกครองยังใช้สื่อดิจิทัลเหล่านี้ทำหน้าที่
เป็นพี่เลี้ยงเด็ก และปล่อยให้เด็กดูสื่อตามลำพัง จนเด็กขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม
ซึ่งการใช้งานสื่อผ่านจอใสนั้นอาจค่อย ๆ ส่งผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ พัฒนาการ และพฤติกรรม
ต่อตัวของเด็กอย่างไม่รู้ตัว

ที่ผ่านมาการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็ก
ต้องใช้สื่อดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นตัวเร่งทำให้เด็กจำเป็นต้องเข้าถึงสื่อดิจิทัลเร็วขึ้น
ก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการทำลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย

สื่อจอใสส่งผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร

สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatric) ได้ให้คำแนะนำว่า
ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18-24 เดือน ขณะที่สมาคมกุมารแพทย์แคนาดา (Canadian Paediatric Society) รวมถึงราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่าเด็กอายุ
ต่ำกว่า 2 ปีควรหลีกเลี่ยงการดูหน้าจอทุกชนิด โดยสาเหตุที่ทำให้กุมารแพทย์ทั่วโลกกังวลต่อการใช้หน้าจอ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากช่วงแรกเกิดถึงอายุ 2 ปี เป็นเวลาที่เด็กเรียนรู้พฤติกรรม
จากการสังเกตพ่อแม่และโลกรอบตัว อีกทั้งการสร้างความสัมพันธ์ซึ่งเป็นพื้นฐานทางอารมณ์
ของมนุษย์ ก็จะเกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน เมื่อเด็กได้สบตากับพ่อแม่เด็กจะเกิดความผูกพันธ์และเกิดความไว้วางใจ แต่หากเด็กใช้เวลาดูหน้าจอมากเกินไปในช่วงขวบปีแรก ๆ ของชีวิต จะทำให้เด็ก
มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ล่าช้า เช่น พูดช้า ขาดทักษะการเข้าสังคม มีปัญหา
ในด้านอารมณ์ มีอาการสมาธิสั้น รวมถึงโรคและปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาในภายหลัง

จากผลวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics ของสหรัฐอเมริกา เผยว่าเด็กในวัย 2-3 ปีที่ใช้เวลากับหน้าจอมากจนเกินไปจะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการในช่วงวัย 3-5 ปี
ซึ่งพัฒนาการในที่นี้รวมถึงการเจริญเติบโตในด้านการสื่อสาร การเคลื่อนไหว การแก้ไขปัญหา
และการเข้าสังคมด้วย นอกจากนั้นในปี 2017 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Common Sense Media) รายงานว่าเยาวชนอายุ 8 ปีหรือต่ำกว่าใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 19 นาทีต่อวันในการจ้องหน้าจอ
ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วเด็กอายุ 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ใช้เวลาบนหน้าจอประมาณ 2.4 ชั่วโมง 3.6 ชั่วโมง
และ 1.6 ชั่วโมงต่อวันตามลำดับ ซึ่งสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้จำกัดการใช้หน้าจอของเด็กในวัย 2-5 ปี ให้เหลือเพียงแค่ 1 ชั่วโมงต่อวัน

สำหรับในประเทศไทย ผลการรายงานการจับทิศทางสุขภาพคนไทย ในปี 2563 (ThaiHealth Watch) โดยข้อมูลจากสถาบันจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พบว่า เด็กและเยาวชนไทย
ติดหน้าจอมือถือหรือจอใสถึงสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง ซึ่งตัวลขดังกล่าวนั้นมากกว่าสถิติโลกที่ระบุไว้ว่า
ไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 16 ชั่วโมง ซึ่งด้วยจำนวนชั่วโมงในการใช้งานที่มากเกินไปนั้น อาจส่งผลทำให้พัฒนาการของเด็กปฐมวัยมีความล่าช้า และหากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดกับสื่อเหล่านี้มากจนเกินไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อตัวเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการสื่อสาร เด็กจะพูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ในการทำสิ่งต่าง ๆ
เพราะเด็กไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนอกจากหน้าจอ ทำให้เด็กขาดทักษะการสื่อสาร ภาษาถดถอย ไม่กล้าพูด สื่อสารไม่เป็น และไม่กล้าเข้าสังคม

2. ด้านร่างกาย เด็กจะมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้อฝ่อ อ่อนเพลีย เพราะเด็ก
ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น รวมถึงการจ้องมองจอภาพเป็นระยะเวลานาน
จะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ตาล้า หรือตาแห้ง เป็นต้น

3. ด้านอารมณ์ จิตใจ เด็กจะควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ เพราะเด็กไม่สามารถแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความเป็นจริงได้ เด็กจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ใจร้อน ความอดทนต่ำ อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว รอคอยไม่เป็น สมาธิสั้น ฯลฯ

4. ด้านสติปัญญา เด็กอาจมีพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ล่าช้า รวมถึงผลสัมฤทธิ์
ทางการศึกษาที่ด้อยลง เพราะเด็กไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์ พูดสื่อสาร แก้ไขปัญหา หรือเรียนรู้ร่วมกับ
ผู้อื่น ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในด้านสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ หากปล่อยไว้นาน
เด็กอาจมีภาวะออทิซึมได้

ทั้งนี้เวลาในการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรคำนึงถึงช่วงอายุของเด็กเป็นสำคัญ กล่าวคือในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้หลีกเลี่ยงการใช้สื่อมีจอทุกชนิด สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ให้จำกัดเวลาการใช้สื่อมีจอ ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง และควรเลือกโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับวัยและใช้ไปด้วยพร้อมกันกับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจในสื่อที่เห็นได้มากขึ้น

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะเห็นได้ว่า “สื่อดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทและแทรกซึมในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราในทุกช่วงวัย รวมถึงได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
เป็นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะตระหนักถึงคือช่วงเวลาในการพัฒนาของเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี โดยควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัว เพราะพัฒนาการที่ดีของลูกนั้น เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ได้เรียนรู้ร่วมกันกับพ่อแม่ เช่น การพาลูกออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ หรือหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว สิ่งเหล่านี้
จะส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กได้ดีกว่าวิธีอื่น เพื่อเด็กจะได้เติบโตขึ้นและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2564). ผลกระทบจากโควิด 19 ทำเด็กเสี่ยง ‘ติดมือถือ – ติดจอใส’. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/934946

ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2565). “สื่อจอใส” ภัยร้ายกระทบต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กในยุคดิจิทัล. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://op.mahidol.ac.th/ga/posttoday-45/

วีระศักดิ์ ชลไชยะ, เบญจพร ตันตสูติ และคมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์. (2561). ผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น : Effects of electronic screen media on children and adolescents. กรุงเทพฯ : บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์.

Jacqueline Howard. (2017). Kids under 9 spend more than 2 hours a day on screens, report shows. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://edition.cnn.com/2017/10/19/health/children-smartphone-tablet-use-report/index.html

Sheri Madigan, Dillon Browne, Nicole Racine, et al. (2019).  Association Between Screen Time and Children’s Performance on a Developmental Screening Test. JAMA Pediatrics. 173(3), 244-250.

ThaiHealth Official. (2564). ผลข้างเคียงยุคดิจิทัล เด็กติดจอกระทบพัฒนาการ. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=236978