ทักษะสมอง EF (Executive Functions) กับเด็กปฐมวัย

ทักษะสมอง Executive Functions หรือ EF คือ เป็นกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ กล่าวได้ว่า EF เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งในด้านการเรียน การทำงาน โดยที่เราสามารถฝึกฝน และพัฒนาทักษะสมอง EF ได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF คือ ช่วงปฐมวัย เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนา
ได้มากที่สุด ผู้ที่ได้รับการฝึกฝน EF จะเป็นผู้ที่สามารถคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น
มีสุขภาพกายและใจที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

องค์ประกอบของ EF (Executive Functions)

นักวิชาการในประเทศไทยจากองค์กรต่าง ๆ ได้แบ่งทักษะ EF ออกเป็น 9 ด้าน และสามารถ
แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 3 ทักษะ ดังนี้

กลุ่มทักษะพื้นฐาน

1. ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) การจำข้อมูล และจัดการกับข้อมูล คิดเชื่อมโยง
กับประสบการณ์เดิม และประมวลผลเพื่อนำไปใช้งานต่อ

2. การยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) หยุดคิด และไตร่ตรองก่อนทำหรือพูด พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ และรู้จักรอ

3. การยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) ปรับความคิดเมื่อเงื่อนไข หรือสถานการณ์เปลี่ยนไป รู้จักคิดนอกกรอบ และเห็นวิธีการรวมทั้งโอกาสใหม่ ๆ

กลุ่มทักษะกำกับตนเอง

4. การจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) มีสมาธิต่อเนื่อง จดจ่อในสิ่งที่ทำ

5. การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) จัดการกับอารมณ์ และแสดงออกได้อย่าง
เหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์

6. การติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring) รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ทบทวนการกระทำ
และสะท้อนผลการกระทำของตัวเองได้ แก้ไขเมื่อพบข้อบกพร่อง

กลุ่มทักษะการปฏิบัติ

7. การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) มีความคิดริเริ่ม คิดนอกกรอบได้ ตัดสินใจลงมือทำ
ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครเตือน

8. การวางแผนและจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organising) ตั้งเป้าหมาย วางแผน
เป็นขั้นตอน จัดลำดับความสำคัญ ดำเนินการอย่างเป็นระบบ

9. การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) มีแรงจูงใจ และความพยายามเพื่อทำตาม
เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่น อดทนต่อความยากลำบากได้

EF สำคัญต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร

ทักษะสมอง EF เป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF คือช่วงวัยปฐมวัย 3 – 6 ปี สำหรับการพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยเด็ก มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จด้านการเรียน เพราะเด็กใช้ทักษะนี้เพื่อจดจำเนื้อหาที่เรียน ทำตามคำสั่ง
ได้ต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้วอกแวกกับการเรียน ปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
กฎระเบียบ แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เหมาะสม ควบคุมอารมณ์ของตนเอง และทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลายาวนานได้ นอกจากเรื่องการเรียนแล้วยังช่วยเรื่องสังคม เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม ความเป็นผู้นำ กล้าคิดตัดสินใจ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง และทำงานจนบรรลุเป้าหมาย

EF ในเด็กปฐมวัยเสริมได้อย่างไร

สิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยนี้ คือ สภาพแวดล้อมของเด็ก ประสบการณ์ชีวิตในช่วงวัยเด็ก การเรียนรู้ เล่น หรือทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ผู้ปกครอง พ่อ แม่ อีกทั้งคนรอบข้าง เช่น ครู

สำหรับผู้ปกครอง เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้เด็กวัยนี้
โดยสามารถส่งเสริม ให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระโดยผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ไปควบคุมการเล่นของลูก ไม่เร่งลูกให้รีบอ่าน รีบเขียนให้ได้ ปล่อยให้ลูก เล่น เด็กจะเรียนรู้จากการลงมือทำ  ให้เด็กได้เรียนรู้งานบ้าน ช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน เริ่มจากง่าย ๆ ก่อน เช่น เก็บของเล่นให้เข้าที่เมื่อเล่นเสร็จ เก็บที่นอนให้เข้าที่ โดยให้พับผ้าห่มของตนเอง  ฯลฯ ในส่วนการฝึกนี้จะช่วยฝึกการจำเพื่อใช้งาน
เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้ของพ่อแม่ก่อน การทำงานยังช่วยปลูกฝังให้ลูกมีระเบียบวินัย
ได้พัฒนากระบวนการคิด รู้จักลงมือทำด้วยตนเอง กลายเป็นประสบการณ์ตรงที่ลูกนำไปปรับใช้ได้เมื่อโตขึ้น เมื่อถึงเวลาเข้านอน ผู้ปกครองควรอ่านนิทาน หรือหนังสือที่ลูกชอบให้ลูกฟัง เพราะเมื่อลูกตั้งใจฟัง ลูกจะจดจ่อกับเรื่องราวสนุกสนานในนิทานและภาพสีสันสวยงาม คิดตาม สงสัย ซักถาม เหล่านี้ช่วยทำให้เซลล์ประสาทแตกแขนง สมองพัฒนาได้ดี หากเป็นนิทานที่มีตอนจบปลายเปิด จะยิ่งช่วยพัฒนาความคิดยืดหยุ่น และฝึกความคิดเชื่อมโยง ซึ่งพ่อแม่สามารถชวนลูกคุยระหว่างเล่านิทาน นอกจากนี้ผู้ปกครองควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้มีมุมสำหรับการเล่น  จัดมุมต่าง ๆ ให้มีสีสันและสิ่งของที่น่าเรียนรู้

สำหรับครู เมื่อเด็กเริ่มเข้าวัยเรียน ครู เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ ดังนั้นครูจึงต้องมีบทบาท
ในการส่งเสริม และพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กอย่างต่อเนื่อง โดยครูต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทักษะสมอง EF เพื่อนำไปปรับใช้กับการสอน ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กทุกคน ต้องเชื่อว่าเด็กทุกคน
มีศักยภาพ สามารถเปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้ ต้องมีความเชี่ยวชาญในทักษะที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมทักษะต่าง ๆ ของเด็กต่อไป ครูจะต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และเรียนรู้
ไปพร้อมกับเด็กเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทักษะสมอง EF ผ่านการเรียนรู้ร่วมกับครู โดยครู
ควรหากิจกรรมที่มีความสนุก ตื่นเต้น และท้าทายเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการคิด การวางแผน
การแก้ปัญหา และมีโอกาสได้ลงมือทำกิจกรรมจริง ๆ

ครูจะต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในมุมอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็ก และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ครูต้องรักเด็ก และเป็นที่ไว้ใจของเด็ก เพื่อทำให้เด็กมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย พร้อมจะเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับครู การโอบกอด การรับฟัง และให้กำลังใจ เป็นแรงเสริมให้เด็กรู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จ
ของตนเอง

ทักษะสมอง EF เป็นทักษะสำคัญสำหรับช่วงปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กในช่วงวัยนี้
มีพัฒนาการทุกด้านพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครอง พ่อแม่ และครู จึงต้องให้ความสำคัญ
และส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้แก่เด็กอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุข และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป

เอกสารอ้างอิง

พญ. มัณฑนา ชลานันต์. (2564). EF ฝึกทักษะสมองพัฒนาสมาธิเด็ก. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/02EGi

พญ. อรรัตน์ เชาว์กุลจรัสศิริ. (2565). EF Executive Function สำคัญต่อพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยอย่างไร. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/UDNhk

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมทักษะสมอง EF (Executive Functions). กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นชูรี่ จำกัด.

Serazu. (2565). EF (Executive Functions) คืออะไร. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/dzK4A

Twinkl. (2565). ทักษะสมอง EF (Executive Functions) คืออะไร ความสำคัญและกิจกรรมพัฒนา ทักษะEF?. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/DAX5h