การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบไฮสโคป สำหรับเด็กปฐมวัย

การเรียนรู้แบบไฮสโคป (High/Scope Approach)       

การเรียนรู้แบบไฮสโคปเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นลงมือกระทำ (Active Learning) ผ่านมุมเล่นที่หลากหลายด้วยสื่อ และกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก ให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเองซึ่งมีพื้นฐานจากทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา
(Cognitive Theory) ของเพียเจต์ (Piaget) โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนซึ่งเน้น
การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning) ต่อมามีการผสมผสานทฤษฎีและแนวคิดอื่น ๆ
เช่น ทฤษฎีของอีริคสัน (Erikson) ในเรื่องการให้โอกาสเด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระ และทฤษฎีของไวก๊อตสกี้ (Vygotsky) ในเรื่องปฏิสัมพันธ์และการใช้ภาษา

ดร.เดวิด ไวคาร์ท (Dr.David Weikart) ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคป (High/Scope Educational Research Foundation) เป็นผู้ริเริ่มและร่วมกับคณะนักวิชาการและนักวิจัย อาทิ
แมรี่ โฮแมน (Mary Hohmann) และ ดร.แลรี่ ชไวฮาร์ต (Dr.Larry Schwein Hart) ได้พัฒนาขึ้นจากโครงการ Perry Preschool Project ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Head Start เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสม และประสบความสำเร็จในชีวิตโดยหลักการของ
ไฮสโคปสามารถได้ตามภาพ “วงล้อแห่งการเรียนรู้” (High/Scope Wheel of Learning) ดังนี้

1. การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning)

หลักการที่สำคัญของไฮสโคประดับปฐมวัย คือ “การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเด็ก โดยองค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ได้แก่

1. สื่อ (Materials) ในห้องเรียนจะมีเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสมกับระดับอายุของเด็ก

2. การสัมผัส (Manipulation) การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
ประสาทสัมผัสทั้งกายและใจ การให้เด็กได้สำรวจและจัดกระทำกับวัตถุโดยตรงทำให้เด็กรู้จักวัตถุ หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับวัตถุแล้ว เด็กจะนำวัตถุต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องกันและได้เรียนรู้เรื่องของ
ความสัมพันธ์ 

3. การเลือก (Choice) เด็กจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจากความสนใจและความตั้งใจของตนเอง การที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเลือกและการตัดสินใจ ต้องจัด
ให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกได้ตลอดทั้งวัน ขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาเล่นเสรีเท่านั้น

4. ภาษาและการคิด (Child language & thought) ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้อธิบายว่าตนกำลังทำอะไรและเข้าใจอย่างไร เพื่อให้เด็กมีโอกาสพูดและสื่อสาร ด้วยภาษาพูด ภาษาท่าทาง และขยายความคิดของตนเพื่อรับรู้สิ่งใหม่

5. การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ (AduIt scaffolding) การที่ผู้ใหญ่สนับสนุนเด็กด้านการคิด และคอยกระตุ้นให้เด็กมีความพยายาม และคอยช่วยเด็กในการสร้างงาน โดยการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกำลังทำร่วมกัน จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก (Adult-Child Interaction)

เน้นให้ผู้ใหญ่สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัยให้แก่เด็ก การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เด็กจะกล้าพูดกล้าแสดงออก และกล้าปรึกษาปัญหา ผู้ใหญ่
จะต้องใส่ใจและไม่เบื่อหน่ายที่จะตอบคำถามของเด็ก หรือคอยถามคำถามเพื่อให้เด็กเกิดความคิดและจินตนาการต่อไป โดยวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางบวกกับเด็ก และการแก้ไขข้อขัดแย้งของเด็ก ๆ ควรคำนึงถึงความจริง และความอดทน จะช่วยให้เด็กรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ตามมา ผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็กในการประนีประนอมข้อขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นได้

3. สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ (Learning Environment)

การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กและผู้ใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับการวางแผนผังการจัดพื้นที่ การวางแผนผัง การจัดห้องเรียน และการคัดเลือกสื่อที่เหมาะสม โดยมีสาระครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่

พื้นที่ (Space) เด็กต้องการพื้นที่ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พื้นที่ในการใช้สื่อต่าง ๆ สำหรับทำกิจกรรม และการเคลื่อนไหว พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สำหรับเล่นคนเดียว และเล่นกับผู้อื่น พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัว พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานและพื้นที่สำหรับผู้ใหญ่ที่จะร่วมเล่นและสนับสนุนความสนใจ
ของเด็ก

สื่อ (Materials) มีทั้งสื่อ 2 มิติ 3 มิติ สื่อสำหรับเด็กจะเริ่มต้นจากสื่อที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม คือ เริ่มต้นจากสื่อของจริง ของจำลอง ภาพถ่าย ภาพโครงร่าง และภาพสัญลักษณ์
นอกจากนี้ การเลือกใช้สื่อต้องเหมาะสมกับวัย ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจ และความต้องการของเด็กด้วย

การจัดเก็บ (Storage) ไฮสโคปจะให้ความสำคัญกับระบบจัดเก็บสื่อด้วยวงจร
“ค้นหา-ใช้-เก็บคืน” สื่อที่เหมือนกันจัดเก็บไว้ด้วยกัน ภาชนะบรรจุสื่อควรโปร่งใส เพื่อให้เด็กมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในได้ง่าย และมีมือจับเพื่อให้สะดวกในการขนย้าย รวมถึงมีการใช้สัญลักษณ์ (Label) ที่ทำมาจากของจริง ภาพถ่าย หรือภาพวาด

4. กิจวัตรประจำวัน (Daily Routine)

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของไฮสโคป จะมีความสม่ำเสมอเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ซึ่งทำให้เด็กสามารถคาดเดาได้ว่าช่วงเวลาต่อไปเป็นกิจกรรมใด และทำให้เด็กสามารถจัดการควบคุมได้ว่าต้องทำอะไรในกิจกรรมแต่ละช่วงด้วยตนเอง โดยกิจวัตรประจำวันสำหรับเด็กในการเรียนรู้แบบไฮสโคปประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

1. กิจกรรมกลุ่มย่อย เป็นประสบการณ์ที่เด็กจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ได้ทำงานแก้ปัญหา และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ ซึ่งครูสามารถส่งเสริมเด็กขณะทำกิจกรรมย่อยโดยการสังเกตเด็กแต่ละคนขณะทำกิจกรรม จัดกิจกรรมอย่างสมดุล วางแผนกิจกรรมไว้ล่วงหน้าตามความสนใจของเด็ก
แต่ละคน

2. กิจกรรมกลุ่มใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่เด็กทั้งห้องทำกิจกรรมร่วมกัน โดยปกติใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เด็กจะได้มีประสบการณ์ร่วมกัน ได้สร้างความรู้สึกของความเป็นชุมชน ส่งเสริมลักษณะการเป็นผู้นำและสมาชิกของกลุ่ม และให้โอกาสเด็กแก้ปัญหาของกลุ่มร่วมกัน

3. กระบวนการวางแผน-ปฏิบัติ-ทบทวน (Plan-Do-Review)

การวางแผน (Plan) คือ การวางเป้าหมายในสิ่งที่ต้องการจะทำของเด็ก ครูสามารถสนับสนุนการวางแผนของเด็กได้โดยการสังเกตลักษณะแผนงานของเด็กแต่ละคน วางแผนกับเด็ก
อย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และช่วยทำให้เด็ก มีความสนใจในการวางแผน สนทนากับเด็กเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับแผนงานของเด็ก

การปฏิบัติ (Do) เด็กจะได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้วางแผนไว้ เป็นช่วงที่เด็กต้องเลือกและตัดสินใจ ใช้วัสดุอุปกรณ์ และเรียนรู้ขั้นตอนในการเล่น ครูสามารถสนับสนุนเด็กในช่วงเวลาของการทำงานได้ โดยการสังเกตลักษณะการทำงานของเด็กแต่ละคน จัดเตรียมบริเวณการทำงาน
เพื่ออำนวยความสะดวก มีส่วนร่วมในการเล่นกับเด็ก สนทนาและส่งเสริมการแก้ปัญหาของเด็ก

การทบทวน (Review) เป็นช่วงที่เด็กได้สะท้อน พูดคุย และนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งที่ทำในช่วง
การทำงาน เด็กจะได้ฝึกความสามารถในการแสดงออก ครูสามารถส่งเสริมเด็กในช่วงของการทบทวน โดยการสังเกตการทบทวนของเด็กแต่ละคน สนทนากับเด็กเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของเด็กโดยไม่เร่งรีบ เชิญชวนให้เด็กพูดคุย เช่น ให้เด็กเสนอความคิดเห็นถามคำถามปลายเปิด และครูควรบันทึกความเชื่อมโยง ในการวางแผน การปฏิบัติและการทบทวนของเด็ก

5. การประเมินพัฒนาการ (Assessment)

การประเมินผลของโปรแกรมไฮสโคป จากการทำกิจกรรมในแต่ละวันครูทุกคนจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจากการสังเกต และการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในกิจวัตรประจำวัน โดยครูจะจดบันทึกสั้น ๆ ตามสิ่งที่เห็น และได้ยินอย่างเที่ยงตรง ครูที่ร่วมกันสอนจะมีการวางแผนประจำวัน
ร่วมกันก่อนที่เด็กจะมาถึงโรงเรียน หรือหลังจากที่เด็กกลับบ้านครูจะแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเด็ก ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านประสบการณ์สำคัญ และวางแผนสำหรับวันต่อไป

การเรียนรู้แบบไฮสโคป (High Scope) ถือเป็นแนวการเรียนการสอนอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ผ่านมุมเล่นที่หลากหลายด้วยสื่อและกิจกรรม
ที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็กให้โอกาสเด็กในการวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ
อย่างอิสระ ทำให้เด็กกล้าคิด มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานได้อย่างเป็นระบบ และเรียนรู้
ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง

โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปในประเทศไทย

การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปเป็นอีกหนึ่งในแนวการสอนทางเลือกที่ได้รับความนิยม
เป็นอย่างมาก ในประเทศไทยได้มีหลายโรงเรียนที่นำแนวการสอนแบบไฮสโคป มาใช้ในการจัดเป็นการเรียนรู้ เช่น โรงเรียนสาธิตหอการค้า โรงเรียนประภัสสรวิทยา ชลบุรี โรงเรียนเกษมพิทยา
และโรงเรียนอนุบาลสามเสน เป็นต้น หากผู้ปกครองหรือท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษา
และอ่านรายละเอียดการจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนได้ที่

โรงเรียนสาธิตหอการค้า https://satit.utcc.ac.th/

โรงเรียนเกษมพิทยา https://www.kasempit.ac.th/kids_kps.php

โรงเรียนประภัสสรวิทยา ชลบุรี แผนกอนุบาล https://www.pbs.ac.th/th/main/course/22

โรงเรียนอนุบาลสามเสน https://shorturl.asia/nqegM

เอกสารอ้างอิง

วรนาท รักสกุลไทย และคณะ. (2562). สุดยอดเทคนิคการ จัดการเรียนรู้แบบครูมืออาชีพ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : แฮปปี้ เลิร์นนิ่ง.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามบริบทไทย : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบไฮสโคป (High/Scope Approach). กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.

___________. (2551). การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย : ตามแนวคิดไฮสโคป. กรุงเทพฯ : วี. ที.ซี.คอมมิวนิเคชั่น.

Holt, N. (2010). Bringing the High/Scope Approach to your Early Years Practice. 2nd Edition. Oxon : Routledge. Wiltshhire, M. (2010). Understanding the High/Scope Approach Early Years Education in Practice. 2nd Edition. Oxon : Routledge

OEC News สภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย EP.1 High/Scope Approach. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://youtu.be/aoxz1ZYqdjE