‘ศิลปะนอกกรอบการตัดสิน’ ครู ศิลปะด้านใน และการเพิ่มความเป็นมนุษย์เข้าไปในการเลี้ยงเด็ก

นิยามของ ‘ศิลปะ’ ในความคิดของใครหลายคนคงเป็นการวาดรูปด้วยดินสอหรือระบายภาพด้วยสีสันต่าง ๆ เพียงเท่านั้น ทว่าความงดงามในอีกแง่มุมหนึ่งของคำว่า ‘ศิลปะ’ ยังหมายรวมถึง ‘ศิลปะด้านใน’ ที่มีทั้งความสุข ความสงบ ความสบายใจ และเป็นอีกหนึ่งวิถีทางแห่งการเรียนรู้
ซึ่งจะเป็นรากฐานไปสู่การขับเคลื่อนการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อเปิดให้มนุษย์ทุกเพศทุกวัยมีโอกาส
พบเส้นทางที่ตัวเองไม่เคยรู้จักมาก่อน

“จงรับเด็กด้วยความศรัทธา ให้การศึกษาด้วยความรัก แล้วส่งเขาออกไปสู่ความมีเสรี” คือแนวคิดของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ริเริ่มการทำงานผ่านสุนทรียภาพบนแนวทางศิลปะมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ซึ่งต่อมาเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ถูกนำมาปรับใช้ในการพัฒนาผู้ทำงานด้านเด็ก ผ่านการศึกษาที่เรียกว่า ‘ศิลปะด้านใน’

ศิลปะด้านในมีความหมายเรียบง่าย หมายถึง การเข้าถึงความงามในโลกที่เป็นศิลปะและเข้าถึงสุนทรียภาพในใจของตนผ่านการบ่มเพาะฝึกฝนศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้
การวาดภาพ ระบายสี การร้องเพลงงานหัตกรรม การทำอาหาร เป็นการซับซึมความงามของศิลปะผ่านสัมผัสทั้งห้าที่ถ่ายทอดจากผู้ใหญ่ จนแทรกซึมเข้าไปสู่ภายในหัวใจดวงน้อย ๆ ของเด็ก

โครงการพัฒนาคุณครูผ่านแนวทางศิลปะด้านในเริ่มต้นจากคุณครูต้นแบบสามท่านที่เป็น
ผู้เริ่มการศึกษาศิลปะแบบมนุษยปรัชญาแนวทางวอลดอร์ฟ ได้แก่ ครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี
ครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท และ ครูมัย ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก ที่ร่วมกันวางกระบวนการทำงานศิลปะด้านในด้วยการนำสุนทรียภาพทางศิลปะแขนงต่าง ๆ เข้ามาในวิถีชีวิตของผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กในห้องเรียน ผู้ทำงานเกี่ยวกับเด็กเล็ก
หรือแม้แต่ผู้ปกครองที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเอง จนนำมาสู่การขยายผลไปตามพื้นที่ต่าง ๆ
ทั่วประเทศ หรือต่อให้จะไม่ได้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก แต่แค่เพียงมีความตั้งใจ
จะพัฒนาศักยภาพทั้งภายในของตัวเองและเด็กน้อยที่อยู่ใกล้ตัว ก็ล้วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ
ด้านในได้เช่นกัน เพราะในความเป็นจริงนั้น การดูแลเด็กสักคนหนึ่งไม่ใช่แค่หน้าที่ของครูหรือ
ผู้ปกครอง แต่หมายรวมถึงทุกคนรอบตัวเด็กน้อยผู้เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังเหล่านี้ด้วย

นอกจากนั้น ครูพร ศิริพร ยอดไพบูลย์ ครูตัวแทนผู้จัดกิจกรรม ‘วิถีศิลป์สู่วิถีชีวิต จังหวัดพิจิตร’ อธิบายเพิ่มเติมว่าหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ศิลปะด้านในและหลักคิดแบบวอลดอร์ฟ คือการฝึกฝนเพื่อเข้าใจจังหวะชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เชื่อมโยงมาถึงการทำซ้ำไปมาในความถี่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นใจและมั่นคงในจังหวะชีวิตของตนเองมากขึ้น จนในท้ายที่สุดก็จะนำมาสู่ความเคารพในมนุษย์ที่เท่าเทียมกันและเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถที่จะพัฒนาได้ หลังจากได้เรียนรู้หลักคิดนี้ ครูพรจึงนำแนวทางศิลปะด้านในมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง และนำไปเผยแพร่ในพื้นที่การเรียนรู้ในจังหวัดพิจิตร โดยครูพรเสริมว่าการส่งต่อความรู้ศิลปะด้านในไปยังผู้ดูแลเด็กในท้องที่จังหวัดพิจิตรมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักสามข้อ คือ

ข้อที่ 1 เพื่อนำเอาแนวคิดศิลปะด้านในมาพัฒนาและเสริมพลังให้ผู้ทำงานด้านเด็ก

ข้อที่ 2 เพื่อให้ผู้เข้ารับการเรียนรู้ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมดูแลเด็ก
ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ข้อที่ 3 เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ดูแลเด็กที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ชุมชนห่างไกลมากขึ้น

ดังนั้น ‘ศิลปะด้านใน’ เปรียบเสมือนหนึ่งในเรือจ้างที่โต้คลื่นในยุคสมัยของการอบรมครู
และกลายมาเป็นกระบวนการที่เติมเต็มหัวใจของผู้ทำงานด้านเด็กท่ามกลางสภาพสังคมที่ป่วยไข้
จากทั้งวิกฤตโรคระบาดและความเครียดของผู้คน ความพยายามและความตั้งใจที่ปกป้องเด็กน้อย
รอบตัวให้เติบโตอย่างงดงามและปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนและปรวนแปรของโลกจึงเป็น
อีกหมุดหมายสำคัญของพวกเขาเหล่านี้

เมื่อศิลปะด้านในเข้ามาสู่จิตใจของมนุษย์ เมื่อได้เห็นศิลปะเชื่อมโยงไปถึงโลกด้านในตัวเด็ก
ได้เห็นความเป็นธรรมชาติของวัยเยาว์เหมือนสีสันที่กระโดดเคลื่อนไหวบนกระดาษ เห็นก้าวเดิน
ของเด็กเปล่งทำนองเหมือนตัวโน้ตในดนตรี ศิลปะในเส้นทางการเรียนรู้ไปกับธรรมชาติและ
ความบริสุทธิ์ของวัยเด็กที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะพาทั้งครูผู้สอนและเด็กน้อย
ผู้กำลังเรียนรู้ไปสู่การค้นพบคุณค่าและความงามในแบบของตัวเอง

โดยหากท่านใดที่ความสนใจเกี่ยวกับ “ศิลปะด้านใน” สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียด
พร้อมกับบทสัมภาษณ์ของครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี  ครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท
ครูมัย ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก และครูผู้มากประสบการณ์อีกหลายท่านที่จะมาร่วมแสดง
ความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.the101.world/development-of-inner-art-trainer/

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากงานสัมมนา ศิลปะด้านใน : การเติบโตของผู้ทำงานที่โอบอุ้ม
เด็กในสถานะด้านจิตวิญญาณ ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เอกสารอ้างอิง

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์. (2566). ‘ศิลปะนอกกรอบการตัดสิน’ ครู ศิลปะด้านใน และการเพิ่มความเป็นมนุษย์เข้าไปในการเลี้ยงเด็ก. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.the101.world/development-of-inner-art-trainer/