แค่ไหนที่เรียกว่า “ปล่อยเด็กอยู่หน้าจอมากไป”

ผู้ใหญ่จำนวนมากผูกติดอยู่กับโทรศัพท์ หลายครั้งถึงขั้นรู้สึกขาดอะไรไปถ้าไม่มีอยู่ในมือ จากพฤติกรรมนี้ได้ส่งผลให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “แค่ไหนถึงจะเรียกว่าให้เด็กอยู่หน้าจอมากเกินไป” สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกา รายงานถึงผลการวิจัยไว้ในวารสารสมาคมแพทยศาสตร์อเมริกา พบว่ามีการใช้สื่อที่เพิ่มขึ้นและเป็นการใช้โดยเด็กที่มีอายุน้อยมาก โดยร้อยละ 96 คือ เด็กอายุ 0 ถึง 4 ขวบ ที่ได้จากการสอบถามจากคลินิกกุมารเวชศาสตร์อยู่ในครอบครัวที่มีการใช้อุปกรณ์มือถือ และร้อยละ 75 เด็กมีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง และรายงานพบว่าพฤติกรรมดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองในเด็กอายุ 3-5 ปี ที่ใช้เวลาหน้าจอนานเกินไปโดยไม่มีผู้ดูแล จากการศึกษา พบว่าระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้หน้าจอของเด็กแต่ละช่วงวัยที่เหมาะสม มีดังนี้

เด็กทารก 

กุมารแพทย์ด้านดูแลสุขภาพ พญ.อะมีรา นอแมน มีกฎเหล็กอยู่ข้อหนึ่ง ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่าสองขวบใช้เวลาหน้าจอเลย นอแมนกล่าวว่าเครือข่ายเส้นประสาทของสมองจะพัฒนาอย่างรวดเร็วที่สุดในห้าปีแรก และก่อนอายุสองขวบ การเรียนภาษาและทักษะการอ่านเขียนควรเป็นแบบตัวต่อตัว “สมองของพวกเขาควรได้รับการบำรุงด้วยหนังสือ การร้องเพลง การเล่น ให้ชวนพวกเขาเคลื่อนไหว ทำห้องสำหรับเล่น และต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ๆ ในระดับส่วนตัวและสังคม” 

นอแมนยังแนะนำไม่ให้เปิดโทรทัศน์ด้วย แม้จะเป็นการเปิดทิ้งไว้เฉย ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะกับเด็กทารกหรือวัยเตาะแตะ เพราะเสียงจากโทรทัศน์จะรบกวนความสามารถในการเล่นและปฏิสัมพันธ์ของเด็กได้ ส่วนสำหรับเด็กที่โตกว่านั้น ก็อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจ จึงจำเป็นต้องสอนเด็กให้มีสมาธิได้ครั้งละเรื่อง หากมีแรงกระตุ้นมากเกินไป อาจดึงความสนใจไปจากหนังสือ
ที่เด็กกำลังพยายามอ่าน หรือภาพที่พยายามวาดได้ 

เด็กวัยเตาะแตะ 

เมื่อเด็กอายุสองขวบ จะสามารถเรียนรู้คำจากคนที่คุยกันทางไลฟ์ วิดีโอได้ รวมถึงการตอบโต้กับหน้าจอสัมผัสบางอย่าง แต่นอแมนกล่าวว่าผลการวิจัยแสดงว่าเด็ก ๆ จะเรียนรู้แบบนั้นได้ก็เมื่อมีพ่อแม่ดูอยู่ด้วย และสอนเนื้อหาซ้ำเท่านั้น

นอแมนเห็นด้วยกับวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์อเมริกาที่บอกว่า การที่เด็กวัย 3-5 ขวบไม่ควรอยู่หน้าจอมากกว่าหนึ่งชั่วโมงเป็นแนวทางที่ดี แต่กุมารแพทย์เตือนว่าไม่ใช่แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนทั้งหมดจะพัฒนาขึ้นมาด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และอาจเป็นอันตรายมากกว่า
เมื่อแอพพลิเคชั่นดึงเด็กไปจากเวลาเล่นกับคนดูแลหรือเด็กคนอื่น ๆ

เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น 

กุมารแพทย์กล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ของเด็กวัยเรียนต้องดูโทรทัศน์ร่วมกับลูก และตรวจดูการใช้หน้าจอหรือคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ต้องรักษาสมดุลของเวลาหน้าจอกับการกระทำที่ดีต่อสุขภาพอื่น ๆ จึงเน้นให้จำกัดเวลาหน้าจอรวมไม่เกินสองชั่วโมงต่อวัน โดยไม่รวมการบ้าน

มีหลักฐานว่าการใช้สื่อมีผลเสียต่อการนอนหลับ โดยแสงสีฟ้าส่งผลต่อความสามารถในการนอนหลับ “หน้าจอมีแรงกระตุ้นสูงมาก” ซึ่งสามารถปลุกให้สมองเด็กตื่นขึ้นได้ในขณะที่พักผ่อน
แต่ในขณะที่หนังสือช่วยกล่อมเด็กให้หลับ หรือการกอดหรือคุยกับพ่อแม่หรือพี่น้องที่ช่วยทำให้เด็กผ่อนคลายมากกว่า

คำแนะนำสำหรับการใช้เวลากับหน้าจอตามวัยของเด็ก

  • อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรให้ใช้เลย (รวมถึงการดูทีวี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดีวีดี คอมพิวเตอร์
    และเกมอิเล็กทรอนิกส์)
  • อายุ 2-5 ขวบ ใช้ได้ไม่เกินวันละหนึ่งชั่วโมง
  • อายุ 5-17 ปี ใช้ได้ไม่เกินวันละสองชั่วโมง (ไม่รวมการบ้าน)

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ. (2566). แค่ไหนที่เรียกว่า “ปล่อยเด็กอยู่หน้าจอมากไป”. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2566 จาก https://happychild.thaihealth.or.th/?p=149506