การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

การขาดกิจกรรมทางกายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของคนทั่วโลก รวมถึงมีส่วนทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น (Willumsen & Bull, 2020) โดยปัจจุบันมีประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละ 28 (Guthold et al., 2018) วัยรุ่นร้อยละ 80 ขาดกิจกรรมทางกาย (Organization, 2014) แต่ยังไม่มีข้อมูลจากทั่วโลกที่แสดงถึงข้อมูลกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กเล็กที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหลายประเทศกำลังพัฒนาเครื่องมือและสำรวจข้อมูลกิจกรรมทางกายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ร่วมดำเนินการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายและการนอนหลับตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับประเทศสมาชิกอีกมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก (Okely et al., 2021) และก่อนที่จะมีการนำข้อมูลการสำรวจมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการ จึงนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กกลุ่มนี้ก่อน เพื่อเป็นการคั่นเวลาการรอข้อมูลสำคัญที่จะเปิดเผยในอีก
ไม่นานนี้

ข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

ย้อนไปเมื่อปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือ Guidelines on physical activity, sedentary behavior and sleep for children under 5 years of age (Organization, 2019) ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2010 (World Health Organization, 2010) WHO ได้ออกข้อแนะนำสำหรับประชากรใน 3 กลุ่มอายุเท่านั้น คือ กลุ่มอายุ 5–17 ปี, 18–64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป (Willumsen & Bull, 2020) อย่างไรก็ดี เด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 5 ปี) เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับที่เพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กในช่วงวัยนี้ คณะกรรมการว่าด้วยการยุติโรคอ้วนในเด็ก (The Commission on Ending Childhood Obesity) จึงมีข้อเรียกร้องให้ WHO ออกคำแนะนำที่ชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา (Organization, 2016) อย่างไรก็ดี เด็กในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปี มีพัฒนาการที่รวดเร็วมากดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในบทความนี้ จึงจะขอกล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการสำรวจข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ของไทยที่ดำเนินการสำรวจเสร็จสิ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลกับเด็กก่อนวัยเรียนทั่วประเทศมากกว่า 700 คน ซึ่งเด็กก่อนวัยเรียนในที่นี้ หมายถึง เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปี จนถึงก่อนอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ หรือ อายุ 36.0 – 59.9 เดือน (Organization, 2019; Prevention., 2021)

WHO ให้ข้อแนะนำว่าเด็กก่อนวัยเรียน “ควรมีกิจกรรมทางกายในระดับความหนักใดก็ได้อย่างน้อย 180 นาที โดยอย่างน้อย 60 นาทีเป็นกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนัก และขอให้ทำกิจกรรมทางกายกระจายไปตลอดทั้งวัน ยิ่งมากยิ่งดี” โดยกิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ใช้พลังงานมากกว่าขณะพัก ซึ่งในเด็กเล็กอาจรวมถึง การเดิน การคลาน การวิ่ง การกระโดด การทรงตัว การปีนผ่านสิ่งของต่าง ๆ การเต้นรำ การขี่ของเล่นที่มีล้อ การขี่จักรยาน การกระโดดเชือก เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมเนือยนิ่งนั้น เด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรนั่งนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง และไม่ควรใช้หน้าจอนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อเด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ผู้ดูแลควรมีส่วนร่วมในการเล่านิทานหรืออ่านหนังสือร่วมกันกับเด็ก และเด็กก่อนวัยเรียนควรนอนอย่างมีคุณภาพ 10 – 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งรวมเวลาการนอนหลับระหว่างวัน และควรมีเวลาการเข้านอนและตื่นนอนที่สม่ำเสมอ (Organization, 2019)

ประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว และจะเป็นช่วงที่นิสัยของเด็กนั้นก่อตัวขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตประจำวันของครอบครัวจะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง (Organization, 2019) ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พัฒนาขึ้นในวัยเด็กสามารถมีอิทธิพลต่อระดับและรูปแบบกิจกรรมทางกายตลอดช่วงชีวิต (Malina, 1996; Telama et al., 2005) โดยการเล่นของเด็กแบบ Active play และโอกาสในการเล่นแบบมีโครงสร้างหรือไม่มีโครงสร้างสามารถช่วยเสริมทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ (Motor skills) และการสำรวจสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก นอกจากนี้ กิจกรรมทางกายยังช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเชิงบวกและการพัฒนาการทางสังคม (Burdette & Whitaker, 2005) พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว สมรรถภาพทางกาย รวมถึงสุขภาพกระดูกและโครงร่าง (Janz et al., 2010; Moore et al., 2003; Organization, 2019) ที่สำคัญกิจกรรมทางกายยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันโรคอ้วนในเด็ก (Jiménez-Pavón et al.; Moore et al., 2003) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (Bürgi et al., 2011; Sääkslahti et al., 2004)  

แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

ข้อมูลสถิติประชากรจากทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองที่รายงานจำนวนเด็กอายุ 3 – 4 ปี (เฉพาะผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและมีสัญชาติไทย) ล่าสุดเดือนพฤษภาคม ปี 2566 รายงานว่าปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 1,246,759 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 640,750 คน และเพศหญิงจำนวน 606,009 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2566) ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 (ราชกิจจานุเบกษา, 2562) ระบุว่า “ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย”หมายถึง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ซึ่งหากจะพิจารณาตามความหมายข้างต้นน่าจะหมาย รวมถึงครูและบุคลากรของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดำเนินการอยู่ อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานสงเคราะห์ โรงเรียน ศูนย์การเรียน หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐหรือเอกชน และสถาบันศาสนา ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย

ทั้งนี้ หากจะส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับบริบทและพื้นที่อยู่อาศัยของเด็ก หรือ Setting เพื่อกำหนดพื้นที่ ผู้ดูแล และวิธีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างตรงจุด สามารถแบ่งพื้นที่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนแบบง่ายออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ “บ้าน” ซึ่งจะมี พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก และพื้นที่ที่เป็น “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งจะมีครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแลเด็ก ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทย ดังนี้

1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ “บ้าน”   

บ้านถือเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญในการบ่มเพาะ เลี้ยงดู และส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กก่อนวัยเรียนได้มีพัฒนาการอย่างสมวัย เนื่องจากบ้านเป็นพื้นที่แรกเริ่มสำคัญที่เด็กอยู่ กิน นอน และเรียนรู้ ตั้งแต่เป็นทารกจนกระทั่งเติบโตเข้าสู่ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กช่วงวัยนี้สามารถทำได้หลากหลาย โดยเฉพาะการส่งเสริมการเล่นแบบอิสระที่ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนหรือมีโครงสร้างในการเล่นก็ได้ โดยเน้นให้เด็ก ๆ ได้เล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกายตลอดทั้งวันให้ได้อย่างน้อย 180 นาที โดยในจำนวนนี้ขอให้มีการเล่นที่เป็นระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน (Organization, 2019) ซึ่งอาจจะเป็นการเล่นที่เป็นการวิ่ง กระโดด หรือปีนป่าย ที่ต้องใช้พละกำลังมากกว่าปกติดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีบุคคลในครอบครัวให้ความสำคัญและสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างเพียงพอ

2. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย”

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยไว้หลายมาตรา อาทิ มาตรา 54 วรรคสอง กำหนดว่า “…รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย” (กลุ่มพัฒนาการศึกษาปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ, 2562) ด้วยเหตุนี้ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงมีหน้าที่เป็นสถานที่รับดูแล พัฒนา จัดประสบการณ์เรียนรู้ และการศึกษาให้กับเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เด็กได้มีพัฒนาการที่สมวัยนั้นถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญ เนื่องจากมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติได้ระบุตัวชี้วัดไว้อย่างชัดเจนใน “มาตรฐานด้านที่ 2 ครู/ผู้ดูแลเด็กและให้การดูแล และจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องมีแผนจัดการเรียนรู้ฯ จัดพื้นที่/มุมประสบการณ์การเรียนรู้ การเล่นที่เหมาะสมและหลากหลาย รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เน้นการส่งเสริมพัฒนาการที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และการเล่น เป็นต้น

ดังนั้น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงจำเป็นต้องกระตุ้นและส่งเสริมที่ครูรวมถึงผู้ดูแลเด็กเป็นลำดับแรก โดยต้องเริ่มจากการสร้างความคิดเห็นเชิงบวกและความตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ครูให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกายในกิจกรรมชั้นเรียน และนำกิจกรรมทางกายไปใช้อย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ (Senol, 2021) และให้เป็นไปตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสรุป

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กก่อนวัยเรียนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัย และด้วยเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามข้อแนะนำของ WHO โดยให้เป็นการเล่นที่หลากหลายทั้งระดับความหนักของการออกแรง และท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายที่หลากหลายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลที่อยู่รอบตัวเด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเมื่อเด็กอยู่ที่บ้านโดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยครูและผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้เด็กก่อนวัยเรียนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งช่วงวัน โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระและปลอดภัยจะเป็นปัจจัยหนุนเสริมที่สำคัญ รวมถึงการควบคุมการใช้และการเข้าถึงอุปกรณ์หน้าจอเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด หรือไม่ให้เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมบ่งชี้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเริ่มจากบุคคลอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครูและผู้ดูแลเด็ก เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้จะช่วยถ่ายทอดพฤติกรรมและความกระฉับกระเฉงไปสู่ตัวเด็ก และในทางกลับกันหากบุคคลกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่กระตือรือร้นระหว่างที่ทำกิจกรรมหรืออยู่ร่วมกันกับเด็ก เด็กจะรับพฤติกรรมและความเนือยนิ่งไปด้วย จึงดูเหมือนว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีประสิทธิผลจำเป็นจะต้องส่งเสริมให้ผู้ดูแลเด็กนั้นมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอไปด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติเชิงบวกให้กับ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูและผู้ดูแลเด็ก จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยสร้างการรับรู้ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กได้อย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2566). การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2567 จากhttps://www.tpak.or.th/th/article/683