การศึกษาเชิงเปรียบเทียบการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมและแบบใหม่ในไต้หวัน

บทความนี้นำเสนอบทสรุปสาระสำคัญงานวิจัยของคณะนักการศึกษาในต่างประเทศ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตรของการจัดการศึกษาปฐมวัยในไต้หวันโดยเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม (Traditional Approach)และแบบใหม่ (Innovative Approach) โดยการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้แนวทางการจัดการเรียนการสอนทั้งสองแนวทาง ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย นักการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง นักนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • การอยู่ร่วมกัน (Coexistence) ของการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมและแบบใหม่

ในไต้หวันการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมมีรากฐานมาจากความเชื่อและค่านิยมจากลัทธิขงจื๊อซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบท่องจำ ความมีระเบียบวินัย ความพร้อมทางวิชาการ การเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้อาวุโส และมีครูเป็นผู้นำในการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบใหม่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressive Education) ของทางตะวันตก เช่น การเรียนรู้แบบ Montessori การเรียนรู้แบบ Reggio Emelia และการเรียนรู้แบบ Waldorf ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการจัดสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำ สำรวจ และคิดสร้างสรรค์ การมีอยู่ร่วมกันของการจัดการศึกษาทั้งสองแบบในไต้หวันส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะยึดมั่นในแนวทางการจัดการศึกษาแบบเดิมเพื่อรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมหรือเปิดรับการจัดการศึกษาตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป

  • ความหลากหลายของการปรับประยุกต์ใช้แนวทางการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมและแบบใหม่

สถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในไต้หวันมีการปรับประยุกต์ใช้แนวทางการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมและแบบใหม่แตกต่างกันไป หลายแห่งยังคงยึดมั่นกับการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิม แต่อีกหลายแห่งเริ่มเปิดรับการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรัชญาและแนวทางการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น แนวคิด ความเชื่อหรืออุดมการณ์ของสถานศึกษา การอบรมครู ความพึงพอใจของผู้ปกครอง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

  • ประโยชน์ที่ได้รับและความท้าทายของการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมและแบบใหม่

การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมช่วยบ่มเพาะความมีระเบียบวินัย การเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส และทักษะทางวิชาการ แต่จะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาบุคลิกลักษณะหรือความเป็นตัวตนของเด็ก ในขณะที่การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบใหม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการจัดประสบการณ์โดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่มีความท้าทายคือ ข้อจำกัดด้านทรัพยากร การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และอุปสรรคทางวัฒนธรรม

  • อิทธิพลจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเลือกแนวทางการจัดการศึกษาปฐมวัย

อิทธิพลจากปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่านิยมทางวัฒนธรรม สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และแนวทางการปฏิบัติของสถานศึกษา สถานศึกษาที่ยึดหลักความเชื่อของขงจื๊อที่มุ่งเน้นการเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีแนวโน้มที่จะเลือกจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิม ในขณะที่ความพยายามปฏิรูปการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สถานศึกษาหลายแห่งในไต้หวันสนใจที่จะปรับรูปแบบการศึกษาปฐมวัยเป็นแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและคุณภาพทางการศึกษาในหลายภูมิภาคที่ส่งผลต่อการเลือกรูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยในไต้หวัน

  • ข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติ

นักวิจัยเสนอแนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมคุณภาพ ความเสมอภาค และประสิทธิผลของการศึกษาปฐมวัยในไต้หวัน โดยเสนอให้มีการกำหนดมาตรการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่น นำนวัตกรรมหรือแนวปฏิบัติแบบใหม่เพิ่มในหลักสูตรเดิม ส่งเสริมการฝึกอบรมครูและพัฒนาด้านวิชาชีพ สนับสนุนความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างนักการศึกษาปฐมวัยที่ยึดหลักการการจัดการศึกษาแบบเดิมและแบบใหม่ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพ่อแม่และชุมชนต่อการกำหนดรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกัน

ที่ลักษณะที่เปรียบเทียบการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิม การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบใหม่
1วิธีการสอนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
2หลักสูตรเน้นเตรียมความพร้อมทางวิชาการเน้นพัฒนาการแบบองค์รวม
3สิ่งแวดล้อมทางการเรียนห้องเรียนมีการจัดที่นั่งสำหรับเด็กแบบตายตัวพื้นที่ในห้องเรียนเปิดโล่งสำหรับให้ทดลองเรียนรู้
4การวัดและประเมินผลการวัดและประเมินผลแบบทางการและใช้แบบทดสอบการวัดและประเมินผลจากการสังเกต
5บทบาทของครูครูเป็นผู้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้แนะแนวทาง
6การมีส่วนร่วมของผู้เรียนเรียนรู้จากการรับฟังจากครูมีส่วนร่วมจากการลงมือทำ
7การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จำกัดโอกาสในการพัฒนาคิดสร้างสรรค์กระตุ้นให้แสดงความความคิดสร้างสรรค์
8ความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมได้รับรากฐานความเชื่อทางวัฒนธรรมจากลัทธิขงจื๊อการเปลี่ยนความคิดความเชื่อตามบริบทของโลก
การเปรียบเทียบลักษณะการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเดิมและแบบใหม่ในไต้หวัน

แปลและเรียบเรียง โดย สำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

เอกสารอ้างอิง

Damayanti, E., Djollong, A. F., Asfahani, A., Sitopu, J. W., & Yadav, U. S. (2024). Dynamics of Early Childhood Education in Taiwan: A Comparative Study of Traditional and Innovative Approaches. Absorbent Mind: Journal of Psychology and Child Development4(1), 65-75.