การบูรณาการความร่วมมือ 6 กระทรวง การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตกลุ่มเด็กปฐมวัย (0-6ปี) พ.ศ. 2565-2569

บันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 6 กระทรวง
การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัย) พ.ศ. 2565 – 2569

          บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข มีเจตจำนงที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัย) โดยร่วมกันผลักดันในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมโยงสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานในบันทึกความร่วมมือนี้ จึงมีความเห็นพ้องกันกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ดังต่อไปนี้

          กลุ่มเด็กปฐมวัย : ร่วมกันดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์เด็กปฐมวัยทุกคนมีการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ โดยคำนึงถึงคุณภาพ ความเท่าเทียม และความจำเป็นขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปสู่ความเป็นพลเมืองคุณภาพ โดยมีเป้าประสงค์คือ เด็กปฐมวัยมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ พัฒนาการสมวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับบริการและคุ้มครองอย่างทั่วถึงเท่าเทียมตามมาตรฐาน ภายใต้กรอบการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต 5 H ประกอบด้วย
1) Heart (จิตใจดี มีวินัย)
2) Head (เก่งคิด วิเคราะห์เป็น)
3) Hand (ใฝ่เรียนรู้ มีทักษะ)
4) Health (สุขอนามัยดี สุขภาพแข็งแรง)
5) Hi-tech (ทันสมัย ก้าวหน้า รู้เท่าทันเทคโนโลยี)
โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานของแต่ละกระทรวง เพื่อหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการ ดังนี้

1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

1) ส่งเสริม พัฒนา และติดตามการพัฒนาเด็กปฐมวัยของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

          2) ส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการพัฒนา คุ้มครอง และจัดสวัสดิการสำหรับเด็กปฐมวัยและครอบครัว รวมถึงเด็กปฐมวัยที่ประสบปัญหาทางสังคม อาทิ เด็กปฐมวัยที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือที่มีรายได้น้อยอยู่ในภาวะเสี่ยง รวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  

          3) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัยให้สามารถดูแล พัฒนา คุ้มครอง ฟื้นฟู ให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านกระบวนการทำงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงระบบ e-learning

          4) ติดตามคุณภาพการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ด้วยระบบประเมินออนไลน์

          5) ส่งเสริม และพัฒนาการดำเนินงานของสถานรองรับเด็กทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม สำหรับเด็กในสถานรองรับเด็ก

          6) ส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย

          7) บูรณาการฐานข้อมูลด้านการพัฒนา คุ้มครอง และจัดสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          8) ให้บริการข้อมูลสารสนเทศเด็กปฐมวัย ด้านการพัฒนา คุ้มครอง และสวัสดิการแก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

          1) ส่งเสริม สนับสนุนพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าถึงข้อมูลและบริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและปลอดภัย

          2) พัฒนาพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีความรู้ ความสามารถในการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์

          3) สนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย

3. กระทรวงมหาดไทย

          1) ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (อายุ 2-6 ปี) สมวัยรอบด้าน (ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยสมวัย)

          2) ส่งเสริมการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ชุมชนมีส่วนร่วม)

          3)  สนับสนุนส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

4. กระทรวงแรงงาน

          1) คุ้มครองและส่งเสริมหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอดให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่เหมาะสม

          2) สนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานประกอบกิจการ

          3) ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแก่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด

5. กระทรวงศึกษาธิการ

          1) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ให้มีสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างบูรณาการกัน และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ 

          2) ส่งเสริมและพัฒนาครูและบุคลากรในการจัดการศึกษาปฐมวัยให้มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน

          3) ส่งเสริมและสนับสนุนสื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วง รวมทั้งส่งเสริมการอ่าน การเล่านิทาน การใช้สื่อเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่ครอบครัว

          4) จัดสภาพแวดล้อมและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการเด็กปฐมวัย 

          5) ส่งเสริมและสนับสนุนภาวะการเจริญเติบโตและสุขภาวะที่ดีของเด็ก เพื่อให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมาะสมตามช่วงวัย

6. กระทรวงสาธารณสุข

          1) พัฒนาระบบบริการอนามัยแม่และเด็กของสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากลและสร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม

          2) เสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพ่อแม่ และผู้ปกครอง

          3) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

          4) สร้างความตระหนักรู้ ด้วยสื่อที่หลากหลาย เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกมิติ

          5) ศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ มาตรฐาน รูปแบบและเทคโนโลยีในการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก

          6) สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน และประชาสังคม

ระยะเวลาความร่วมมือ

          บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ.2565 – 2569) นับตั้งแต่วันที่ลงนาม ทั้งหกฝ่ายอาจตกลงกันเป็นหนังสือเพื่อยุติหรือขยายระยะเวลาความร่วมมือจากการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงนี้ โดยความเห็นชอบทั้งหกฝ่าย

**************************************************************************

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข