“เด็กเล็กหากเด็กติดอยู่ในรถตามลำพังเป็นเวลานาน…
เด็กจะเกิดภาวะช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ในที่สุด”
ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังข่าวจากสื่อตั้งแต่ปี 2557-2563 พบว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีเหตุการณ์เด็กถูกลืมและถูกทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพังจำนวน 129 เหตุการณ์ (เมื่อรวมกับ ด.ญ. อายุ 7 ปี ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมเป็นทั้งสิ้น 130 เหตุการณ์) โดยในนั้นเป็นเด็กอายุ 2 ปี มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 38.0 รองลงมาคือเด็กอายุ 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.9 และเด็กอายุ 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 19.4 ตามลำดับ โดยมีเด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ติดอยู่ในรถจำนวน 6 คน เป็นเพศหญิง 3 คน และเพศชาย 3 คน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในรถรับส่งนักเรียน 5 คน และรถยนต์ส่วนบุคคล (ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 คน) โดยทั้งหมดถูกลืมทิ้งไว้ในรถนานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป
โดยปัจจัยหลักของสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก เช่น คนขับรถ ผู้ดูแล หรือครูไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจนับจำนวนนักเรียนทั้งตอนขึ้นและลงจากรถ เมื่อเด็กติดอยู่ในรถแล้วนำรถไปจอดในที่ที่มีแดดระยะเวลาเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียส แต่หากจอดไว้กลางแดดนานหลายชั่วโมง อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 40-50 องศาเซลเซียส จะทำให้เด็กที่ติดอยู่ในรถเกิดอาการฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรด การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือการทำงานของไต จนทำให้เด็กเสียชีวิตในที่สุด
กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรึกษาร่วมกันและสมควรให้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ที่ใช้ในการรับจ้าง รับส่งนักเรียน ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวนั้น เป็นการกำหนดลักษณะของรถโรงเรียนที่จะสามารถนำมาใช้รับส่งนักเรียนได้ โดยจะมีการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น กำหนดสีของรถซึ่งจะต้องใช้สีตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเท่านั้น รวมถึงกำหนดหน้าที่ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียน กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของพนักงานขับรถโรงเรียน และรวมไปถึงผู้ควบคุมดูแลนักเรียน
และเพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงได้นำเทคโนโลยี IoT Sensor ตรวจจับความเคลื่อนไหว และคลื่นความร้อนของเด็กนักเรียนที่อยู่ในรถมาใช้งาน หากมีการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถ Sensor นี้ก็จะทำงานโดยจะแจ้งเตือนข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ปกครอง ของครู และแจ้งเตือนไปที่ศูนย์บัญชาการของระบบ ทำให้สามารถรู้ได้ว่ามีการลืมเด็กไว้ในรถนักเรียน เจ้าหน้าที่ก็จะรีบนำเด็กออกมาจากรถได้ทันเวลา ซึ่งระบบนี้เรียกว่า “Smart School Bus” โดยได้ทำโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 3,500 คัน ทั่วประเทศ และจะผลักดันให้ติดตั้งระบบในรถโรงเรียนทุกคันให้สำเร็จภายในปีนี้
อย่างไรก็ตามแม้ในเบื้องต้นจะมีมาตรการในการป้องกันเด็กติดอยู่ในรถจากหน่วยงานต่าง ๆ มาคอยช่วยเหลือ แต่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงอย่าง คนขับรถ ครู หรือผู้ดูแลเด็ก จะต้องคอยนับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง และก่อนนำรถไปจอดทิ้งไว้ควรตรวจตราความเรียบร้อยภายในตัวรถให้ทั่วถึงว่ามีเด็กหลับหรือตกค้างอยู่ในรถหรือไม่ และที่สำคัญอย่าทิ้งเด็กไว้ลำพังในรถเป็นระยะเวลานาน ซึ่งหากทุกฝ่ายคอยประสานร่วมมือกัน ตระหนักถึงบทบาทและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ปัญหาเด็กติดอยู่ในรถก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป