ประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่วัยเด็ก (ACEs) ส่งผลระยะยาวทุกด้าน

อะไรคือ ACEs

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อธิบาย “ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก”
(Adverse Childhood Experiences : ACEs) ว่าหมายถึงประสบการณ์ความเครียด
ที่เด็กได้รับ ตั้งแต่การถูกทอดทิ้งทางกาย การถูกทอดทิ้งทางใจ การทารุณกรรม
ทางกายและใจ ความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิด การหย่าร้างในครอบครัว
เป็นต้น นอกจากนี้ประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ ยังหมายรวมถึง การที่เด็กได้รับการเลี้ยงดู
ที่ไม่เหมาะสม กินไม่อิ่ม นอนไม่พอ หรือติดอยู่หน้าจอตั้งแต่ยังเล็ก ยิ่งเด็กต้องเผชิญกับ
จำนวนครั้งของประสบการณ์ไม่พึงประสงค์มากเท่าใด ความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบ
ต่อชีวิตที่เติบโตขึ้นไป ยิ่งมากตามไปเท่านั้น

ACEs ส่งผลอย่างไรบ้างหากเกิดในเด็กปฐมวัย

เด็กที่ได้รับประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ มีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพในระยะยาว
ทั้งทางกายและทางใจ มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมเสพติด การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
การมีโรคประจำตัว โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคซึมเศร้า (มีความเสี่ยงถึง 14 เท่า
ที่จะฆ่าตัวตาย) โรคจิตเวช และพลั้งที่จะตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เด็กได้รับ จะส่งผลต่อความภาคภูมิใจตนเองของเด็ก
อย่างมีนัยสำคัญ เด็กมีมุมมองด้านบวกต่อตนเองและโลกลดลง มีความเครียดสะสมมากกว่า
คนทั่วไปในระดับปกติ ความเครียดเหล่านี้บั่นทอนการทำงานของสมอง ภาพสแกนสมอง
ของเด็กที่มีความเครียดสะสมยาวนาน แสดงให้เห็นถึงใยประสาทที่หดสั้นกว่าปกติ
เหมือนรากต้นไม้ที่ถูกน้ำร้อนลวก ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาททำได้ไม่ดี
ส่งผลทำให้การเรียนรู้ การคิดไตร่ตรองไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

อีกทั้งพบว่าเด็กที่ประสบการณ์ช่วงต้นของชีวิตมีความยากลำบากมักมีอายุขัยสั้น
กว่าคนทั่วไปอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์โควิด คือหนึ่งในประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่บีบคั้น
ให้เด็กเล็กต้องเผชิญความเครียดนานนับปีตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่มีต่อเด็กปฐมวัยมีมากมาย

โควิด ทำให้เด็กปฐมวัยจำนวนมากมีปัญหาด้านโภชนาการ ไม่ได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ
หรือไม่มีคุณภาพ ต้องเผชิญกับความหิวโหย กินไม่อิ่ม จากการที่ผู้ใหญ่ในบ้านไปทำงานไม่ได้
ไม่มีเงิน อาหารที่ได้ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ กินนอนไม่เป็นเวลา นอนดึก ไม่ได้ไปโรงเรียน
โอกาสในการเรียนรู้น้อยลง ขาดพัฒนาการทางสังคมตามช่วงวัย เด็กมีพัฒนาการล่าช้ามากขึ้น
เด็กเล็กขาดการเล่นตามวัย ไม่ได้ออกจากบ้านเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ดูโทรทัศน์
ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้สมาธิแย่ลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เด็กจำนวนมาก
มีความเครียดมากขึ้นและได้รับความรุนแรง จากความเครียดของผู้ใหญ่ ยังไม่นับรวมเด็กจำนวน
ไม่น้อยที่เจ็บป่วยจากการแพร่ระบาดของโรค

ผลกระทบด้านลบที่กล่าวมาล้วนเป็นประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เด็กเล็กจำนวนมาก
ต้องประสบพบเจอในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้พบได้ทั่วไปหลังเปิดเมืองว่า เด็กโดยเฉพาะ
เด็กเล็กโดยทั่วไปมีปัญหาทางอารมณ์ ก้าวร้าว และพฤติกรรมที่ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด และมีเด็ก
ที่ติดเกมเป็นจำนวนมาก

แก้ไข ACEs ตั้งแต่ปฐมวัย อาจช่วยให้ปัญหาบรรเทาลง

ปัจจุบันเด็กปฐมวัยอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งสองประเภท จึงเป็นฐานสำคัญในการช่วยบรรเทา และแก้ไข ACEs 
ตั้งแต่ปฐมวัย โดยทำงานร่วมมือกับสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการฟื้นฟูดูแลสุขภาพทางกาย ให้เด็กได้รับประทานอาหารที่ครบถ้วน
ได้กินอิ่ม ได้รับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ และจัดเวลาให้เด็กได้ออกกำลังกายทุกวัน
อย่างสม่ำเสมอ ได้นอนเพียงพอ และไม่เล่นมือถือก่อนวัยอันควร 

การออกกำลังกายเป็นเครื่องมือฟื้นฟูสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งเด็กได้ทำกิจกรรม
ทางกายมาก ได้เคลื่อนไหว มีเวลาได้ออกกำลังกายจนเป็นนิสัย จะทำให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง
ประสาทสัมผัสได้ทำงานอย่างคล่องแคล่ว จิตใจเข้มแข็ง และสมองเรียนรู้ได้ดี ความภาคภูมิใจ
ในตนเองจะตามมา การออกกำลังกายเป็นประจำจึงสามารถช่วยบำบัดฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหา ACEs 
หรือเด็กที่มีประสบการณ์เลวร้ายได้

ชุมชนร่วมคลี่คลาย ป้องกัน ACEs

นอกจากสนามเด็กเล่นในโรงเรียน ในชุมชนทุกชุมชนจำเป็นต้องจัดให้มีสนามให้เด็ก
ได้เล่นด้วยกัน และมีพื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณะสำหรับครอบครัวในชุมชนที่มีการจัดการ
อย่างเป็นระบบ มีการหนุนช่วยพ่อแม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลลูกอย่างเหมาะสม
โดยเฉพาะการใช้เวลาที่มีความสุข ทำกิจกรรม เล่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือร่วมกันทุกวัน
รอยแผลที่เกิดขึ้นของชีวิตเด็กปฐมวัยในช่วงโควิดก็จะบรรเทาลง ควรมีการจัดทำรูปแบบ
การประเมินบริบทครอบครัวและสังคมของเด็กที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
หรือส่งเสริมสนับสนุนตามสภาพของแต่ละครอบครัวหรือของเด็กแต่ละคน  หน่วยงาน
และชุมชนดำเนินการทบทวนว่า ครูปฐมวัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลเด็กมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญ ในชุมชนควรมีการ
ให้ความรู้แก่พ่อแม่อย่างทั่วถึง พัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบ ให้สามารถสื่อสารกับพ่อแม่
ผู้ปกครองให้เข้าใจ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้สังคมเห็นความสำคัญ เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน
อย่างจริงจัง เราย่อมจะฟื้นฟูเด็กของเราให้หลุดออกจากภาวะการณ์ได้รับประสบการณ์
ไม่พึงประสงค์ได้

เอกสารอ้างอิง

ปรารถนา หาญเมธี. (2565). ประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่วัยเด็ก (ACEs) ส่งผลระยะยาวทุกด้าน. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2567 จาก https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/ประสบการณ์ไม่พึงประสงค/

วิริยาภรณ์ อุดมระติ. (2565). การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.