สกศ. ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย นัดแรก

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 1/2565 โดยมี ที่ปรึกษาสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) และอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงบประมาณ กรมอนามัย  กรมสุขภาพจิต กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี ชั้น 3 สกศ.

คณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีภารกิจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน การดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว การสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกับสาธารณชน เพื่อให้เด็กปฐมวัยเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนี้

  1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย 4 ครั้ง (ไตรมาสละ 1 ครั้ง)
  2. การประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย 4 ครั้ง
  3. ภารกิจติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย และการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เช่น การลงพื้นที่ การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากภาคีเครือข่าย การจัดทำรายงานผลการติดตามการดำเนินงาน ฯลฯ
  4. การประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางการจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. การจัดทำและขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการ ทั้งนี้ การดำเนินงานจัดทำแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อีกด้วย

ที่ประชุมยังทบทวนแนวทาง มาตรการความปลอดภัย และคู่มือการป้องกันการเผชิญเหตุในสถานการณ์รุนแรง  หรือเหตุกราดยิง จากกรณีเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ในมาตรฐานที่ 1 การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้กำหนดตัวบ่งชี้ที่ 1.3 การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย ในประเด็นการจัดให้มีระบบป้องกันจากบุคคลทั้งภายในและภายนอกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ควรสร้างความรู้ ความเข้าใจในการแก้ไขและป้องกันให้กับครู 
  2. ควรจัดให้มีการฝึกซ้อมให้เป็นไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ตามสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้น
  3. ควรนำความรู้ด้านการบูรณาการโดยเฉพาะด้านทักษะชีวิตมาอยู่ในหลักสูตร/กระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เช่น ทักษะการเอาตัวรอดจากการว่ายน้ำ การหนีไฟ
  4. ควรจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมหารือประเด็นข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 สำหรับเด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาส โดยเสนอให้มีการปรับปรุงรูปแบบเป็นการจัดสรรแบบมีเงื่อนไข ได้กำหนดให้นักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนต้องมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 – 85 และติดตามพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการหลุดออกระบบการศึกษาเพื่อให้มีการติดตามประเมินผลเป็นไปอย่างมีรูปธรรม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 2/2565 จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2565

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). สกศ. ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย นัดแรก. สืบค้น 2 ธันวาคม 2565, จาก http://www.onec.go.th/th.php/page/view/Newssecgen/5041