คุยเข้ม 6 คณะอนุกรรมการเด็กปฐมวัย สกศ. รวมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรับมือภาวะ LEARNING LOSS

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เปิดประชุมหารือสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้ง 6 คณะ และผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สถาบันราชานุกูล สถาบันพัฒนาเด็กอนามัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน แลกเปลี่ยนร่วมกัน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี ชั้น 3 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยการประชุมเร่งด่วนนี้ เกิดขึ้นภายหลังการรับฟังเสียงสะท้อนจากการลงพื้นที่ชี้แจงแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย พบว่า ความต้องการของหน่วยงานระดับพื้นที่ต้องการฐานข้อมูลกลางของเด็กปฐมวัย ลดการซ้ำซ้อนของการกรอกข้อมูล และขาดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สกศ. จึงเปิดเวทีหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการ ฯ เพื่อหาแนวทางสร้างความร่วมมือในการตอบสนองความต้องการของหน่วยงานผู้ปฏิบัติ

ประเด็นเร่งด่วนคือ บูรณาการข้อมูลเด็กปฐมวัยทั่วประเทศให้อยู่ในระบบกลาง ซึ่งรองศาสตราจารย์ธีรณี อจลากุล ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย มีความกังวลเรื่องการขอข้อมูลต่างกระทรวงและให้ความเห็นว่า ควรเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบของแต่ละกระทรวงที่มีอยู่เดิม และควรมีคณะทำงานหรือกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งผ่านคณะรัฐมนตรี ที่มีอำนาจในการตัดสินให้ผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เปราะบาง ข้อมูลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กปฐมวัย

สถานการณ์ Covid-19 ย้ำให้เกิดภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) รายงานสำนักสถิติแห่งชาติ พบเด็กเล็กไม่มีหนังสือในบ้านกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ สอดคล้องข้อมูลกรมอนามัยว่า พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กไทยต่ำสุด 4 ด้าน คือ 1) พัฒนาด้านสติปัญญาและภาษา 2) พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อ 3) พัฒนาการด้านสังคม และ 4) พัฒนาการด้านการเรียนรู้

ที่ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีการสื่อสารทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้น เผยแพร่กระบวนการฟื้นฟูเด็กปฐมวัยด้านร่างกาย จิตใจ สู่พ่อแม่ผู้ปกครอง และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รวมทั้งหารือประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของแต่ละคณะอนุกรรมการ ฯ การจัดทำรายงานผลการขับเคลื่อนเด็กปฐมวัยระยะ 3 เดือน เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานปฏิบัติทราบและดำเนินงานควบคู่กัน มาตรการห้ามจัดสอบวัดความสามารถทางวิชาการและสมรรถนะอื่น เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เด็กปฐมวัยมีโอกาสได้รับการศึกษาเท่ากัน

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). คุยเข้ม 6 คณะอนุกรรมการเด็กปฐมวัย สกศ. รวมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรับมือภาวะ LEARNING LOSS. สืบค้น 14 ตุลาคม 2565, จาก http://www.onec.go.th/th.php/page/view/Newssecgen/4898