คุณหญิงกัลยา ถกซูเปอร์บอร์ดปฐมวัย รวมพลังเครือข่ายแสดงนวัตกรรม ในงานประชุมระดับชาติ 24-25 ส.ค. นี้

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 1/2566 โดยมี เลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) พร้อมด้วย รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง)  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง)  กรรมการนโยบาย
การพัฒนาเด็กปฐมวัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ร่วมหารือ ณ ห้องสิปปนนท์เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมร่วมพิจารณาการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566
เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้แนวคิด “ชวนรู้ ชวนเล่น สร้างสรรค์ผ่าน
นวัตกรรมเด็กปฐมวัย” โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้เสนอให้เพิ่มเครือข่าย 
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งตามพระราชดำริ
ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอน
วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย  การประชุมวิชาการระดับชาติฯ ในครั้งนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป็นปีที่สอง โดย สกศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรม
ที่สามารถประยุกต์กับเด็กปฐมวัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัด
ประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นของเด็ก สู่การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย
ของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม ณ โรงแรมอัศวิน
แกรนด์คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสารการจัดประชุมฯ
และการถ่ายทอดสด(LIVE) ผ่านช่องทาง Facebook และทุกช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย
“OEC NEWS สภาการศึกษา”

นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมรับฟังรูปแบบการขับเคลื่อนงานพัฒนาการเด็กปฐมวัย “พิจิตรโมเดล” เป็นการประสานงานและการทำงานแนวราบในระดับพื้นที่จังหวัดพิจิตร  โดยให้ความสำคัญใน 4 ด้าน

  1. ระบบข้อมูล : รายบุคคล และรายครัวเรือน ครอบคลุม 4 มิติ คือ ร่างกาย สติปัญญา สังคม
    และสภาพแวดล้อม
  2.  การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ (ตำบล) ผ่านกลไก บ้าน วัด โรงเรียน (บวร)
  3. เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาจากผลพิจารณาระดับจังหวัด และมาประยุกตืใช้กับการฝึกอบรม
    ให้ระดับตำบล
  4. กลไกกำกับติดตามประเมินผล และการบูรณาการที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมรับฟัง อัปเดตการจัดทำต้นแบบการวิเคราะห์ข้อมูลของการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย (Big Data) โดยนำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูล
ส่วนบุคคล (PDPA) เพื่อสร้างธรรมาภิบาลและกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นข้อมูล
เด็กปฐมวัยด้วย

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2566). คุณหญิงกัลยา ถกซูเปอร์บอร์ดปฐมวัย รวมพลังเครือข่ายแสดงนวัตกรรมในงานประชุมระดับชาติ 24-25 ส.ค. นี้. สืบค้น 3 สิงหาคม 2566, จาก  http://www.onec.go.th/th.php/page/view/Newssecgen/5304