กทม. สานพลังเครือข่าย เดินหน้าพัฒนากลไกในชุมชน-นโยบาย คุ้มครองเด็กในครอบครัวเปราะบาง

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
ร่วมงานเพื่ออภิปรายหัวข้อแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการดำเนินนโยบายงานด้านการคุ้มครองเด็ก และความปลอดภัยในเด็กของกรุงเทพฯ รวมถึงโครงการความร่วมมือของกรุงเทพมหานครกับหน่วยงานเครือข่ายด้านการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ในงานเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) องค์การยูนิเซฟ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 “สานพลังผู้ทำงานด้านการคุ้มครองและความปลอดภัยในเด็ก” เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น
ข้อเสนอต่อการพัฒนา กลไกคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งต่อเด็กในกรุงเทพมหานคร ไม่ให้มีเด็กหลุดจากระบบการช่วยเหลือ

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า หากจะแก้ที่เรื่องโครงสร้างอย่างแท้จริงต้องมีการปรับแนวความคิดใหม่ตั้งแต่ต้นว่าเรื่องการคุ้มครองดูแลเด็กหมายถึงอะไร ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากเพราะเมื่อปรับแนวคิดใหม่แล้ว จะต้องมีการทบทวกฎหมายอีกครั้งว่าแนวคิดใหม่เรื่องการดูแลเด็กนั้นหมายถึงการให้กฎหมายตัวใดเข้ามารองรับอำนาจหน้าที่ และนำไปใช้กำหนดค่างาน (Job Value) ใหม่ให้แก่บุคลากรที่มีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพและสามารถที่จะสร้างแรงจูงใจได้ในท้ายที่สุดต้องนำไปสู่การทบทวนภารกิจอีกด้วย อีกทั้งยังต้องเติมเต็มเส้นทางการทำงานให้เป็นระบบในการทำงาน
ร่วมกัน โดยต้องนึกถึงว่าการดูแลคุ้มครองเด็กเหล่านั้นมีผู้เกี่ยวข้องเป็นใครบ้าง ฉะนั้นข้อคิดเห็นและข้อเสนอในวันนี้จะเข้ามาช่วยกทม. ให้เราทำงานได้ตรงจุดและเร็วขึ้น ทั้งหมดนี้เมื่อเกิดเป็นกลไกที่เป็นระบบจะทำให้เครือข่ายร่วมกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน โดยกล่าวว่า วันเด็กสากล (World Children Day) ครบรอบ 31 ปี ที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะได้ทบทวน และวางแผนการทำงานด้านเด็กและเยาวชน สำหรับ กทม. ได้ประกาศนโยบายส่งเสริมสิทธิเด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็ก ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญและมีค่าที่สุดของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ถนน หรือตึก แต่คือเด็กทุกคนที่ต้องมารับช่วงต่อดูแลเมืองนี้ กทม. จึงลงทุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เด็กได้รับการคุ้มครอง ดูแลให้เติบโต พัฒนา มีพื้นที่แสดงศักยภาพ ความสามารถ ความคิดเห็น และมีส่วนร่วมกับ กทม. อย่างมีความหมาย 

“กทม. ดำเนินการเรื่องนี้หลายประเด็น เช่น ผ่อนปรนเรื่องเครื่องแบบ ทรงผมให้นักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ทำให้บรรยากาศการมาโรงเรียนดีขึ้น มีการศึกษาทรัพยากรและระบบ กลไกการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กของ กทม. ให้ดีขึ้น รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ โครงการในสำนักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษาและสำนักวัฒนธรรมฯ การขยายการทำงานคุ้มครองเด็กระดับชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายไปยัง 21 ชุมชน ใน 11 เขต  อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนานโยบายปกป้องเด็ก (Child Safeguarding Policy) จะประกาศใช้ใน 437 โรงเรียน และ 271 ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัย รวมทั้งสำนักที่เกี่ยวข้องภายในปี 2569 เป็นก้าวแรกที่จะทำให้เกิดกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กแบบบูรณาการ เป็นเอกภาพ ไร้รอยต่อ และวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ทำงานด้านเด็ก มาร่วมกันออกแบบระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กทั้งกระบวนการ” 
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าว

เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพมหานคร. (2566). กทม. สานพลังเครือข่าย เดินหน้าพัฒนากลไกในชุมชน-นโยบาย คุ้มครองเด็กในครอบครัวเปราะบาง. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566 จากhttps://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02xedYcnMnhffvyPk7VUGvbEZjNK4fg5Q5D5mP8zj814iHUqCk1uU3UfzbuE3MBfGUl&id=100068944758423&mibextid=ZbWKwL&paipv=0&eav=AfYjc_5676mK-vlrj5Q_UFvBj1X9n2Q34c4twbIb7hby0k3Qq90m9vQ4raWTTEpbBGI&_rdr

muknutta. 2566. วันเด็กสากล’66 สสส. สานพลังภาคีฯ พัฒนากลไกชุมชน-นโยบาย สร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง กทม. หลังภาวะอยู่ดีมีสุขด้อยภูมิภาคอื่น. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=350937