“อนุทิน” ประเดิม คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดระบบ-สรรหาผู้ทรงฯ ดำรงตำแหน่งวาระถัดไป

วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 2/2566” โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำและขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติและแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านเด็กปฐมวัย เป็นอาทิ นอกจากนี้ยังมีผลงานและกิจกรรมด้านวิชาการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการและสังคม สำหรับประเด็นสืบเนื่องเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ‘3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม’ รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล มอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

เนื่องด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกินสองวาระ ด้วยในวันที่ 30 มีนาคม 2567 ที่จะถึง มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คนถึงกำหนดครบวาระการดำเนินงาน ที่ประชุมจึงร่วมกันพิจารณาการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เห็นว่าในขั้นตอนการรับสมัครกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ควรดำเนินการโดย สกศ. ซึ่งถือเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงานได้มาก ทั้งนี้  ยังมีการปรึกษาหารือเรื่องคุณสมบัติ ความเชี่ยวชาญ และโครงสร้างภายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและประสิทธิภาพของงาน

สกศ. พร้อมตอบสนองมติของที่ประชุมในการสรรหาและรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น