พม. หนุนสร้างหลักประกันคุ้มครองสิทธิเด็กตามกรอบกฎหมายกรณีการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับฯ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานการประชุมนำเสนอผลการปฏิบัติงานภายใต้ 
MOU การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าว
เพื่อรอการส่งกลับและการจัดการรายกรณีในบริบทเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โดยมี 
นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน
กระทรวงการต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) 
ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

        นายอนุกูล กล่าวว่า จากสถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา มีผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากขึ้น รวมถึงกลุ่มเด็กที่เดินทางติดตามพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็กที่เดินทางโดยลำพัง โดยมีสาเหตุปัจจัยหลายประการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบาง จึงมีความท้าทายในการให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือ ทักษะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิหลัง วิถีการดำเนินชีวิต
หลักการทำงานด้านการคุ้มครองเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการประสานงานเครือข่าย
ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดูแลตนเองด้านจิตใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 

        ทั้งนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ และการจัดการรายกรณีในบริบทเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา
การกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
และกำหนดกลไกและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนของหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างหลักประกัน
ว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกรอบกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย

        นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กระทรวง พม. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดทำขั้นตอนปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน (Standard Operating Procedure – SOP) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีแนวปฏิบัติในการช่วยเหลือเด็กจากห้องกักให้เป็นไป
ตามมาตรฐานสอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการช่วยเหลือเด็ก โดยมีหลักการสำคัญ คือ เน้นให้เด็กอยู่ในบรรยากาศเลี้ยงดูแบบครอบครัว และให้สถานรองรับเด็กเป็นทางเลือกสุดท้าย จากการดำเนินงานพบว่า การจัดการรายกรณีสำหรับเด็กและครอบครัว เป็นแนวทางที่นำมาใช้ในการจัดบริการมาตรการทางเลือกแทนการกักตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะการจัดการรายกรณี โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่งผลให้เด็กสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเป็นระบบ 

        นอกจากนี้ ยังได้มีการทบทวนขั้นตอนปฏิบัติงานและการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่
สหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 – 2566 ได้ดำเนินงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวม 654 ราย แบ่งเป็นเด็กชาย จำนวน 311 ราย และเด็กหญิง จำนวน 278 ราย พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือมารดา/ผู้ดูแล จำนวน 65 ราย ทั้งหมดนี้ จะส่งผลให้เกิดความช่วยเหลือเด็กที่มีประสิทธิภาพ และทำให้ค้นพบข้อจำกัดในการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นที่ประโยชน์สูงสุดของเด็ก
เป็นสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

เนฐิดา พันธ์ชูเพชร. (2566). พม. หนุนสร้างหลักประกันคุ้มครองสิทธิเด็กตามกรอบกฎหมาย กรณีการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับฯ. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2566 จาก https://www.m-society.go.th/news_view.php?nid=37420