สสส. สร้างภูมิคุ้มกันเด็ก-เยาวชน ห่างไกลเหล้า-บุหรี่-ยาเสพติด ปลูกจิตสำนึกรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงได้ร้อยละ 87.1 เข้าใจผลกระทบได้ร้อยละ 87.8

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาเปิดตัวชุดสื่อกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันจากกัญชาผสมอาหาร และ Gamification สร้างภูมิคุ้มกันจาก เหล้า บุหรี่ การพนัน สำหรับเด็กวัยอนุบาลและนักเรียนระดับประถมศึกษา

โดยนายพิทยา จินาวัฒน์  กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า “จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ 12.7 ลดลงจากร้อยละ 15.4 ในปี 2560 พบนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี 211,474 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 73.7 เริ่มสูบบุหรี่ช่วงอายุ
15-19 ปี และมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน คิดเป็นร้อยละ 0.14 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
ที่มีจำนวน 57 ล้านคน ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปี 2547-2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อยู่ในช่วงร้อยละ 23.5-29.5 และลดลงเหลือร้อยละ 20.9 หรือราว 1.9 ล้านคน ในปี 2564 พบการ
ดื่มแล้วขับร้อยละ 33.06 ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บและเสียชีวิตร้อยละ 25.09 ก่อความรุนแรง
ร้อยละ 24.7 และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดร้อยละ 17.2 จากสถานการณ์นี้ สสส. จึงมุ่งให้
ความสำคัญการป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด และอบายมุขอื่น ๆ
โดยพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบที่เด็ก ๆ สามารถฝึกสติผ่านการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย
เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ช่วยปกป้องเด็กจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพได้อย่าง
รอบด้าน”

ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการการศึกษานำร่องการพัฒนากิจกรรมพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากกัญชาผสมอาหารสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา กล่าวว่า “ได้พัฒนาชุดสื่อกิจกรรม 2 ชุด ได้แก่ 

1) ชุดสื่อกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันจากกัญชาผสมอาหาร กิจกรรมต่อเนื่อง 5 วัน วันที่ 1
สร้างการตระหนักรู้ภัยจากกัญชา วันที่ 2 สร้างการมีความรู้ที่ถูกต้องผ่านเกม วันที่ 3 สอนให้รู้คิดรู้ทัน วันที่ 4 การยอมรับและรักตนเอง วันที่ 5 ส่งต่อความเข้าใจด้วยกิจกรรมสร้างเมืองปลอดภัย
จากการนำชุดสื่อทดลองใช้ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 10
โรง ครอบคลุมเด็กนักเรียน 100 คน พบเด็กมีความตระหนักรู้ว่ากัญชามีโทษต่อร่างกายร้อยละ
91.8  มีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาร้อยละ 85.9 มีวิธีการแก้ปัญหาหากอยู่ในสถานการณ์
ความเสี่ยงจากกัญชาร้อยละ 87.1 เด็กนำความรู้ที่ได้ไปช่วยคนอื่น ร้อยละ 87.1 ลดปัญหา
ความกังวลของครูในเรื่องการขาดความรู้ ขาดกิจกรรม ขาดสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับกัญชา
ร้อยละ 87 ทั้งนี้ เตรียมขยายผลผลิตสื่อและจัดอบรมให้ผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
กระทรวงมหาดไทย 50 แห่ง และปรับชุดสื่อให้เหมาะกับบริบทนักเรียนไทยมุสลิม โดยกระทรวง
มหาดไทยจะนำไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตพื้นที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 50 แห่ง

2) ชุดสื่อกิจกรรมพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคมผ่านระบบออนไลน์แบบGamification เป็นนวัตกรรมให้กับครูใช้ออกแบบแผนการสอนเรื่องปัจจัยเสี่ยงครอบคลุมกิจกรรมฝึกการตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยง การไวต่อสถานการณ์ความเสี่ยง การจัดการปัญหา
จากความเสี่ยงผ่านกิจกรรมกำกับกาย กำกับใจ กำกับตามกติกาสังคม และการใช้ในวิถีชีวิต
โดยนำร่องจัดอบรมการใช้ชุดสื่อกิจกรรมให้ครูระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา 50 คน
จากโรงเรียน  27 โรงทุกภูมิภาค ครอบคลุมเด็ก 1,500 คน  ผลการทดลองใช้งานพบว่า
ครูสามารถนำแนวทางการสร้างแผนการสอนจัดการความเสี่ยงด้วยระบบ Gamification 
ไปใช้ได้จริงร้อยละ 85 สามารถสร้างทัศนคติใหม่ให้เด็ก ช่วยเรื่องไม่ประมาท รู้จักพอ
พึ่งตนเองในการแก้ปัญหาความเครียดในชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งเหล้าและบุหรี่ร้อยละ 88.4
พัฒนาการคิดของเด็กให้รู้จัก ใช้เหตุผลแก้ปัญหาแทนการใช้อารมณ์ความรู้สึก การตัดสินใจ
วางแผนการเงิน รู้จักสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งรอบตัวที่อาจเป็นความเสี่ยง การรู้เท่าทัน
ไวต่อสถานการณ์ความเสี่ยงร้อยละ 87.1 รวมถึงเด็กได้ความรู้ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง
ต่อร่างกาย สังคม และจิตใจร้อยละ 87.8”

แพทย์เภสัชกรรมไทย ดร.บัญชา สุวรรณธาดา ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยโครงการพัฒนาการแพทย์ไทยร่วมสมัย(Contemporary Thai Medicine) มูลนิธิโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า “ตามตำราปรุงยา (pharmacopoeia) ของแผนไทย ระบุชัดเจนว่าห้ามใช้กัญชาในเด็กวัยปฐมวัย ดังนั้นฝากถึงเยาวชนทุกคนห้ามเสพกัญชาโดยเด็ดขาด เพราะร่างกายของเด็กปฐมวัยสามารถสร้างแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ในร่างกายได้เอง การได้รับสารเอ็นโดรแคนนาบินอยด์เพิ่มเติมจากที่ร่างกายผลิตได้เอง จะยิ่งสร้างผลเสียกับร่างกาย ในระยะสั้นทำให้ซึม สับสนวุ่นวาย พูดผิดปกติ ประสาทหลอน เดินไม่ตรง พฤติกรรมรุนแรง ส่วนระยะยาว ทำให้ความจำไม่ดี ความคิดแย่ลง ตัดสินใจควบคุมตนเองได้ลดลง ส่งผลต่อการเรียนตกลง ทั้งนี้ จึงได้พัฒนาคู่มือการใช้ชุดสื่อกิจกรรมการสร้างภูมิคุ้มกันจากกัญชาผสมอาหาร เป็นคู่มือให้แก่ครูได้ใช้สอนเด็กนักเรียนควบคู่ไปกับชุดสื่อกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันจากกัญชาผสมอาหาร เหล้า และบุหรี่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชา และเป็นเกราะป้องกันให้เด็กเยาวชน”

นายโยชิทากะ ฮาชิวะดะ ประธานบริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท เจเทคโตะฯ ร่วมสนับสนุนการผลิตชุดสื่อเกี่ยวกับกัญชาผสมอาหาร การสร้างความรู้ เพื่อความปลอดภัยต่อเยาวชนในโรงเรียน และร่วมการฝึกอบรมเพื่อป้องกันและช่วยเหลือเด็กจากเหล้า บุหรี่ และกัญชาผสมอาหาร และเตรียมนำชุดสื่อมาขยายผลให้กับทีมครู โรงเรียนในชุมชนใกล้เคียงบริษัท เพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถใช้ชีวิตได้ปลอดภัยแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงก็ตาม”

เอกสารอ้างอิง

Phongsulee Jeerawattanarak. (2566). สสส. สร้างภูมิคุ้มกันเด็ก-เยาวชน ห่างไกลเหล้า-บุหรี่-ยาเสพติด ปลูกจิตสำนึกรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงได้ร้อยละ 87.1 เข้าใจผลกระทบได้ร้อยละ 87.8. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=353229