พม. พร้อมหน่วยงานภาครัฐ และยูนิเซฟ ประชุมระดับชาติว่าด้วยเด็กในยุคดิจิทัล ร่วมวางแนวทางคุ้มครองเด็กและเยาวชน รับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญบนโลกออนไลน์ เนื่องในวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยเด็กในยุคดิจิทัล ครั้งที่ 2ภายใต้แนวคิด สู่สภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยและครอบคลุมยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก เนื่องในวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2567 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย คุณคยอง ซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ พ.ต.ท. พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกล่าวเปิดการประชุม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

       นายอนุกูล กล่าวว่า ความสำคัญของวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้รับรองให้มีวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ เมื่อปี 2566 วันนี้เราจึงได้มาร่วมกันจัดกิจกรรมและรณรงค์ไปพร้อมกับอีก 190 ประเทศ ทั้งนี้ เด็กและเยาวชน ถือเป็นพลังสำคัญของชาติ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์พลังที่มีคุณภาพ และพวกเรามีหน้าที่ช่วยเสริมพลังให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักเคารพ และรับผิดชอบกับพฤติกรรมออนไลน์ของตนเอง รวมถึงรู้จักใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจากรายงาน เรื่อง หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย จัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564 มีเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี ราว 400,000 คนในประเทศไทย หรือร้อยละ 9 ตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิด และแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ ทั้งโดยคนแปลกหน้า หรือบุคคลที่เด็กรู้จัก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องรับมือกับความท้าทายจากภัยคุกคามต่อเด็กทางออนไลน์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตสำหรับเด็กและเยาวชน 

        นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า การประชุมในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ประเทศไทย
โดยการนำทีมของอาจารย์ วันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กใน ACWC ได้มีบทบาทนำในการผลักดันปฏิญญาและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ โดยการรับรองของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2564 ตามลำดับ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการอาเซียนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวง พม. มีการดำเนินการตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน และบุคคลแวดล้อมตัวเด็กอย่างต่อเนื่อง 

นายอนุกูล กล่าวต่ออีกว่า ในโอกาสวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติปีนี้ เราได้นำผลลัพธ์สำคัญจากการประชุม ASEAN ICT Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปี 2566 คือ การเปิดตัวแนวปฏิบัติอาเซียน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) แนวปฏิบัติอาเซียนว่าด้วยการออกกฎหมายที่สอดคล้องและครอบคลุม เพื่อต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ทุกรูปแบบ และ2) แนวปฏิบัติอาเซียนว่าด้วยการจัดบริการเพื่อคุ้มครองและสนับสนุนเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ และเด็กที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจากการแสวงหาประโยชน์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งนำมาเป็นหัวข้อหลักในการประชุมวันนี้ ทั้งนี้ แนวปฏิบัติฯ ฉบับนี้ เน้นย้ำการเสริมสร้างระบบการตอบสนองระดับชาติต่อการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ในประเทศไทย โดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือ บำบัดฟื้นฟู แก้ไข เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ และเด็กที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจากการแสวงหาประโยชน์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ ต้องนำไปประยุกต์ใช้ ทบทวน และพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติอาเซียนฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการประสานส่งต่อการช่วยเหลือ ทั้งระหว่างหน่วยงาน ระหว่างพื้นที่ และระหว่างประเทศ โดยยึดตามหลักการและเป้าหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ อยากให้ครอบครัว ชุมชน ให้ความสำคัญกับเด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาว จำเป็นต้องมีผู้ปกครองคอยดูแล เพราะฉะนั้น กลไกสำคัญที่จะทำให้เด็กได้รับการดูแลคือผู้ปกครองเด็ก ผู้ดูแลเด็ก หรือสหวิชาชีพที่อยู่รอบตัวเด็ก เช่น ถ้าในชุมชน คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องมองเด็กเป็นบุคคลที่ได้รับการดูแล หรือแม้แต่ในครอบครัวที่พ่อแม่ต้องมีบทบาท สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องช่วยกัน หรือแม้กระทั่งในโรงเรียน ควรมีการสอนด้านมิติสังคม และสื่อสารเรื่องการป้องกันให้กับเด็กมากขึ้นในชั่วโมงเรียน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ให้เด็กได้รู้เท่าทันภัยจากอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา กระทรวง พม. ได้ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชน นำเอาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้ทำงานร่วมกับศูนย์เด็กของตำรวจ โดยมีสภาเด็กและเยาวชนเป็นตัวเชื่อมกลางระหว่างหน่วยงาน เพราะสภาเด็กและเยาวชนมีประจำทั้งตำบล อำเภอ และจังหวัด เพราะฉะนั้นเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน

เอกสารอ้างอิง

เนฐิดา พันธ์ชูเพชร. (2567). พม. พร้อมหน่วยงานภาครัฐ และยูนิเซฟ ประชุมระดับชาติว่าด้วยเด็กในยุคดิจิทัล ร่วมวางแนวทางคุ้มครองเด็กและเยาวชน รับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญบนโลกออนไลน์ เนื่องในวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2567. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.m-society.go.th/news_view.php?nid=37924