(ร่าง) รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 ประจำปีงบประมาณ 2565

การติดตามความก้าวหน้าของการจัดทำแผนปฏิบัติการตามเเผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ของหน่วยงานระดับต้นสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยได้จัดทำหนังสือขอความอนุเคราะห์หน่วยงานให้จัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯลฯ ทั้งหมด 45 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่จัดทำแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 31 หน่วยงาน และรายงานผล
การดำเนินงานตามแผนฯ จำนวน 24 หน่วยงาน ส่วนหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเนื่องจากแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ ประกาศใช้ช่วงกลางปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงกลางปีงบประมาณ ทำให้
บางหน่วยงานได้จัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรมตามปีปฏิทินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้
ไม่สามารถกำหนดแผนงานโครงการได้ 

         ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้วิเคราะห์รายละเอียดแผนปฏิบัติการฯ
ของหน่วยงาน แยกตามรายยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พบว่า ยุทธศาสตร์การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย เป้าประสงค์ที่ 2 เด็กปฐมวัยได้รับการดูแล พัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสุขภาวะ การศึกษา และสวัสดิการสังคม เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย มีหน่วยงานที่กำหนดแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม 
ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดถึง 11 หน่วยงาน ส่วนในยุทธศาสตร์อื่น ๆ หน่วยงานยังกำหนดแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ค่อนข้างน้อย ซึ่งจะมี 2 เป้าประสงค์ที่ไม่มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 5การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย เป้าประสงค์ที่ 1 ให้มีกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับประโยชน์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด และยุทธศาสตร์ที่ 7 การบริหารจัดการการสร้างกลไกการประสานการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล 

ข้อเสนอแนะในการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยในระยะต่อไป

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลการติดตามการนำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 สู่การปฏิบัติ และการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ในปีงบประมาณถัดไป
โดยสามารถสรุปข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ควรติดตามผลการดำเนินงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในยุทธศาสตร์/เป้าประสงค์ที่ยัง
    ไม่ปรากฏการรายงานผลการติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแต่ละยุทธศาสตร์/เป้าประสงค์จะมีทั้งผู้รับผิดชอบหลักและรอง ซึ่งการติดตามหน่วยงานเหล่านี้จะช่วยให้ทราบ
    ถึงอุปสรรค ปัญหา และข้อเสนอแนะสำหรับปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถบรรลุ
    ตามตัวชี้วัดในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
  • ศึกษาวิเคราะห์ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์ที่หน่วยรับผิดชอบหลักยังไม่มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมรองรับ โดยอาจจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการ/กิจกรรมตรงตามภารกิจ
    ของหน่วยงาน และสอดคล้องตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป
  • จัดลำดับความสำคัญของปัญหาเด็กปฐมวัย และศึกษาเชิงลึกในประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กปฐมวัย เพื่อศึกษาเชิงลึกในแผนงานโครงการของหน่วยงานที่รายงานผล
    การดำเนินงานขึ้นมา ซึ่งหากโครงการใดที่สามารถแก้ปัญหาได้ประสบความสำเร็จก็สามารถ
    ใช้เป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไปได้
  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนฯ ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
    เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของแต่ละหน่วยงาน เช่น ลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายยุทธศาสตร์ จัดประชุม
    สนทนากลุ่ม หรือสำรวจรายจังหวัด แล้วนำประเด็นที่ได้มาปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคต

    เอกสารอ้างอิง

    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2566). (ร่าง) รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 ประจำปีงบประมาณ 2565. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2566 จาก https://region2.prd.go.th/th/ebook/category/detail/id/15/iid/206