กรมควบคุมโรค เปิดสถิติหน้าร้อน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบ “เด็กจมน้ำ” กว่า 900 ราย

กรมควบคุมโรค เผยสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิตช่วงปิดเทอมหน้าร้อน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย ส่วนใหญ่เกิดเหตุในช่วงเดือนเมษายน และเกิดเหตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด แนะผู้ปกครองสนับสนุนบุตรหลานเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และหากทำกิจกรรมทางน้ำควรสวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำช่วย

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เดือนเมษายนพบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด65 ราย รองลงมาคือ เดือนมีนาคม
64 ราย และเดือนพฤษภาคม 63 ราย โดยมีจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากกว่า 10 รายถึง
40 จังหวัด เสียชีวิต 6-10 ราย มี 19 จังหวัด เสียชีวิต 2-5 รายมี 16 จังหวัด และมีเพียง 2 จังหวัด
ที่เสียชีวิตน้อยกว่า 2 ราย ได้แก่ จังหวัดระนอง และลำพูน แหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ (ร้อยละ 76.5) เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ/ฝาย (ร้อยละ 11.1) ทะเล (ร้อยละ 5.3) ภาชนะภายในบ้าน (ร้อยละ 3.5) และสระว่ายน้ำ/สวนน้ำ (ร้อยละ 1.8) โดยสาเหตุหลักเกิดจาก
การเล่นน้ำมากที่สุด (ร้อยละ59.4) รองลงมาคือ พลัดตกลื่น (ร้อยละ 21.5) ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง

ทั้งนี้ 10 จังหวัดแรกที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อน ปี 2561 ถึง 2565 ได้แก่ บุรีรัมย์ (45 ราย) อุดรธานี (38 ราย) นครราชสีมา (37 ราย) สุรินทร์ (30 ราย) ร้อยเอ็ด (28 ราย)  สกลนคร (28 ราย)  นครสวรรค์ (26 ราย) ขอนแก่น (25 ราย) นครศรีธรรมราช (25 ราย) และปัตตานี (24 ราย) โดย 7 ใน 10 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มอายุที่จมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด คือเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 42.1) รองลงมาคือ อายุ 0-4 ปี (31.5) และอายุ 10-14 ปี (26.4) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิงถึง 2.2 เท่าตัว

ดังนั้นชุมชนควรมีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในชุมชน ห้ามให้เด็กลงไปเล่นน้ำ
ตามลำพังโดยเด็ดขาดและสถานที่ที่เปิดให้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำที่เพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย กำหนดบริเวณสำหรับเล่นน้ำ มีเจ้าหน้าที่ lifeguard คอยดูแล แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำที่ปลอดภัย ติดป้ายแจ้งเตือน เช่น
ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำ และมีป้าย
ขอความช่วยเหลือ เบอร์ 199 หรือหากได้รับบาดเจ็บให้ โทร 1669

เอกสารอ้างอิง

สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2566). กรมควบคุมโรค เปิดสถิติหน้าร้อน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบ “เด็กจมน้ำ” กว่า 9 ร้อยราย แนะผู้ปกครองสนับสนุนให้เด็กเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด. สืบค้น 17 มิถุนายน 2566, จาก https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/02/187327/