วิกฤตอัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2021 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญของไทย โดยไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 20 (15.2 ล้านคน) ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาแห่งแรกในโลกที่เข้าสู่ภาวะดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น สหประชาชาติยังคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เป็นร้อยละ 30 (20 ล้านคน) จนกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) ภายในปี 2033 หรือราว 10 ปีข้างหน้าเท่านั้น

ขณะเดียวกัน สัดส่วนของเด็กและอัตราการเกิดใหม่ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2021 ไทย
มีประชากรเด็กอายุไม่เกิน 14 ปีประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 15.8 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ถือเป็นจำนวนต่ำสุดในรอบ 50 ปี โดยลดลงจากปี 2011 ที่เคยมีเด็กเกิดใหม่ 818,901 คน ไปมากกว่าหนึ่งในสาม ควรกล่าวด้วยว่า ปี 2021 ยังเป็นครั้งแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งนี้มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้
คนรุ่นปัจจุบันตัดสินใจมีลูกน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมในการสร้างครอบครัวที่ไม่ผูกติดกับการมีลูกอีกต่อไป ต้นทุนการดูแลและสนับสนุนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนการต้องทุ่มเวลาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการงานและฐานะของคนรุ่นปัจจุบัน จนทำให้การมีลูกกลายเป็นเป้าหมายในชีวิตที่สำคัญน้อย

เมื่อครอบครัวไทยตัดสินใจมีลูกน้อยลงจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไป นำไปสู่ขนาดของครอบครัวไทยที่เล็กลงอย่างต่อเนื่อง จากสมาชิกในครอบครัวราว 5-6 คนในช่วงปี 1990 เหลือเพียง 2.4 คนในปี 2020 นอกจากนี้ เดิมทีสังคมไทยมีเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่คนเดียวตามลำพังอายุต่ำกว่า 18 ปีมากถึง 5,594 คน และมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ภายใต้
การดูแลของพ่อแม่อีก 4,978 คน แต่จากวิกฤตโรคระบาดได้พรากชีวิตของผู้ปกครองหลายครัวเรือน ทำให้เกิดเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน 448 คนซึ่งในจำนวนนี้ 157 คนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เอกสารอ้างอิง

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์). (2562). เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต : รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี 2022. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2566 จาก https://drive.google.com/drive/folders/18r5A8I39vqUUbr2L0Ctwl7NpROwgQ-Ko