Z – alpha in NUMBERS : ข้อมูลและสถิติของซี – แอลฟา

โครงการวิจัย “ยุวชนนิเวศของประชากรเจเนอเรชันซี- แอลฟาในประเทศไทย (Child Ecology of Thai Z-alpha)” ได้เก็บข้อมูลจากการใช้เวลาทำกิจกรรมของเด็กนอกเหนือจากที่บ้าน และที่โรงเรียน โดยสัมภาษณ์ข้อมูลจากเด็กซี-แอลฟาร่วมกับการสัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล พบว่า 

1. ผลจากการวิจัย “พื้นที่บ้าน” พบว่า ผู้ดูแลหลักของเด็กส่วนใหญ่เป็นพ่อหรือแม่ของเด็ก สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มากกว่าครึ่งของผู้ดูแลหลักมีสถานภาพสมรส เกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้ครัวเรือนเพียงพอ แต่ไม่เหลือเก็บ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพลูกจ้างเอกชน และรูปแบบครอบครัวของเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูก 

  • พัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็กอายุ 3 – 5 ปี ประเมินด้วยเครื่องมือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Development Surveillance and Promotion Manual : DSPM) จากข้อมูลเด็ก 383 คน พบว่า เด็กผ่านการประเมินพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามเกณฑ์มากที่สุด ขณะที่ผ่านการประเมินพัฒนาการด้านการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้ตามเกณฑ์น้อยที่สุด 30.1% ของเด็ก 3 – 5 ปี สงสัยว่ามีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัยอย่างน้อย 1 ด้าน และ 7.7% ของเด็ก 3 – 5 ปีสงสัยว่ามีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย 2 ด้านขึ้นไป เด็กผู้หญิงมีพัฒนาการด้านการใช้ภาษา และการช่วยเหลือตนเอง และสังคมสมวัยสูงกว่าเด็กผู้ชาย นอกจากนี้ปัจจัยด้านอื่น ๆ อาทิ พื้นที่อยู่อาศัย รูปแบบครอบครัว การเลี้ยงดู มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก 

2. ผลจากการวิจัย “พื้นที่โรงเรียน” พบว่า เด็กศึกษาอยู่ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากที่สุด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาของพื้นที่โรงเรียน วิเคราะห์จากคำตอบของครูที่มีความเห็นในด้านต่างๆ ของเด็ก จำนวน 904 คน เมื่อนำกิจกรรมนอกห้องเรียนของเด็กมาพิจารณา พบว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ของโรงเรียนไทยมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทัศนศึกษา ศิลปะ ดนตรี กีฬา และการมีสื่อการสอนสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาแยกตามสังกัดโรงเรียน พบว่า โรงเรียนสาธิตโดดเด่นในเชิงกิจกรรมนอกห้องเรียนมากที่สุด มีบรรยากาศดีกว่าโรงเรียนสังกัดอื่นในทุกด้าน ทั้งการมีเครื่องเล่น สนามที่มากเพียงพอ บรรยากาศในโรงเรียนที่แปลกใหม่สดใสเสมอ หรือแม้แต่การมีกิจกรรมที่ให้เด็กได้คิดผลงาน และนำเสนอด้วยตนเอง เด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิตมีทักษะชีวิตโดดเด่นเกือบทุกด้าน ทั้งความสามารถในการแยกแยะผิดถูก รับผิดชอบผู้อื่น ปรับตัวได้หลายบทบาท การพูดและฟังอย่างมีกาลเทศะ และความอ่อนน้อมถ่อมตน ยกเว้นความคิดริเริ่ม การสรุปประเด็น และการจัดการเวลาที่เด็กนักเรียนสาธิตมีน้อยกว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ 

3. ผลจากการวิจัย “พื้นที่อื่น ๆ” เด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และครอบครองอุปกรณ์สื่อสาร เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเด็กยังมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง สะท้อนให้เห็นความอิสระในการเข้าถึงโลกออนไลน์ ทำให้มีโอกาสในการสร้างกลไกเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น ผู้ปกครองจึงต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบการใช้อินเทอร์เน็ต การเข้าถึงข้อมูลของเด็ก โดยการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กซี-แอลฟาแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ อาทิ พื้นที่อยู่อาศัย รูปแบบครอบครัว ช่วงเวลาการใช้งาน เป็นต้น 

  • ประเภทสื่อสังคมออนไลน์ที่เด็กใช้ พบว่า เป็นสื่อประเภทวิดีโอ ซึ่งยูทูบ ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาเล่นเฟซบุ๊ก ยูทูบ และเกมออนไลน์ ซึ่งระยะเวลาในการเล่นจะแตกต่างกันตามตัวแปร สำหรับเนื้อหาของรายการที่เด็กเข้าไปดูมากที่สุด คือ การแคสเกม และคลิปเกี่ยวกับการเล่นเกม เกมออนไลน์ที่เด็กชอบเล่นมากที่สุด คือ เกมออนไลน์ที่มีเนื้อหาต่อสู้ วางแผนโจมตี และยิงเป้าหมาย สำหรับผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดเงื่อนไข กติกาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเด็กซี-แอลฟา ส่วนใหญ่ คือ แม่ และจากข้อมูลปริมาณการใช้สื่อออนไลน์ของผู้ดูแล พบว่า แม่มีแนวโน้มจะใช้โซเชียลมากกว่าผู้ดูแลคนอื่น ๆ จากจำนวนและลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมของเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการใช้สื่อออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ เกมออนไลน์มากเกินไป แตกต่างกันตามปัจจัย อาทิ เพศ อายุ พื้นที่อยู่อาศัย การศึกษาของผู้ดูแล และรายได้ของผู้ดูแล
  • ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมชุมชนที่อยู่อาศัยของเด็ก แยกตามจังหวัดที่เก็บข้อมูล โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พบว่า ในแต่ละพื้นที่ที่อาศัยอยู่มีปัญหาแตกต่างกัน อาทิ ปัญหาความสกปรก ปัญหาเรื่องการไม่มีเพื่อนบ้านที่ดีและอยู่แบบตัวใครตัวมัน ปัญหาด้านค่าครองชีพสูง เป็นต้น 
  • พื้นที่สาธารณะของเด็กซี-แอลฟา โดยถามเด็กในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เคยใช้เวลาในสถานที่นอกบ้านและนอกโรงเรียน 3 อันดับที่ไหนบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่ไปห้างสรรพสินค้า หรือตลาดนัดนอกห้าง รองลงมาเป็นบ้านเพื่อน บ้านญาติ และข้างบ้าน และกิจกรรมที่เด็กซี-แอลฟาทำกับครอบครัวจำแนกตามพื้นที่ พบว่า เด็กซี-แอลฟาที่อยู่ต่างจังหวัดนอกเมืองทำกิจกรรมกับครอบครัวมากที่สุด โดยกิจกรรมที่ทำมากที่สุด คือ เล่นตัวต่อเป็นรูปร่าง

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2566). เด็กซี-อัลฟ่า. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2567 จาก  https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/nAMY?view-item=view_most