“บอร์ดเกม Jungle Fruit” นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เป็นได้มากกว่า

การปิดโรงเรียนเพราะโรคระบาดอันเป็นผลมาจากโควิด-19 กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลร้ายแรงให้กับระบบการศึกษาทั่วโลก และจาก “รายงานผลกระทบของการระบาดโรคโควิด-19
ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย” ฉบับล่าสุดขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า การปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่งผลกระทบต่อเด็กอายุระหว่าง 36-59 เดือน ถึงร้อยละ 86.3 จากจำนวนของเด็กทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่สามารถทำได้ตามปกติ
ส่วนการเรียนออนไลน์ที่ถูกนำมาใช้ทดแทนก็มีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ทั้งยังสร้างข้อจำกัดแก่เด็ก
ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต หรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะแก่การนั่งเรียน
ทางหน้าจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยที่ยังไม่สามารถนั่งจดจ่อกับหน้าจอได้เป็นระยะเวลานาน
โดยทั่วไปแล้วการเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น คือการเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
การเล่น การทำกิจกรรม และการมีพื้นที่ให้ได้วิ่งเล่น ซึ่งการเรียนกับหน้าจอนั้นส่งผลให้พัฒนาการ
ในด้านต่าง ๆ ของเด็กปฐมวัยลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการด้านสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น 

จากการเก็บข้อมูลของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยพบว่า เด็กที่เรียนผ่านระบบออนไลน์นั้น ไม่ได้ทำกิจกรรมในชั้นเรียนเท่าที่ควร ทำให้ขาดทักษะต่าง ๆ อาทิ ทักษะทางสังคม
ทักษะการสื่อสาร และทักษะการแก้ปัญหา และยังพบว่าเด็กมักจะเริ่มติดจอมากขึ้น ส่งผลให้เด็ก
มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ขาดทักษะพื้นฐาน ทักษะการกำกับตัวเอง และทักษะปฏิบัติต่าง ๆ
ซึ่งอาจส่งผลทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ทางทีมอนุบาลสาธิตพาเพลิน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม “บอร์ดเกม Jungle Fruit” ขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของเด็กปฐมวัย
ที่ขาดหายไป ซึ่งผลงานนวัตกรรมดังกล่าวยังได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ECD Innovation Awards ประจำปี 2023 อีกด้วย

“บอร์ดเกม Jungle Fruit” มีแนวคิดมาจากไหน

ทีมอนุบาลสาธิตพาเพลิน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า นวัตกรรม “บอร์ดเกม Jungle Fruit” มีแนวคิดมาจากเกมอูโน่ (UNO) ซึ่งเป็นเกมที่เด็กคุ้นเคย นำมาพัฒนาจนกลายเป็นบอร์ดเกมที่ได้บูรณาการทักษะความรู้ มุ่งเน้นส่งเสริมทักษะ EF รวมถึงทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษ
ที่ 21 ให้แก่เด็กปฐมวัย และยังช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แก่เด็กปฐมวัยอีกด้วย

ด้วยวิธีการเล่นเกมที่สนุกสนาน ตื่นเต้น ทำให้เด็กเกิดความตื่นตัว โดยลักษณะของเกมยังมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนกติกาการเล่นได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอุปกรณ์ในการเล่นนั้น
จะประกอบไปด้วยตัวบอร์ดเกม ตำแหน่งการวางการ์ด แผ่นรองการ์ดที่สามารถเก็บการ์ดได้ครั้งละ
2 ใบ และการ์ดภาพผลไม้ ที่มีภาพ สี คำศัพท์ภาษาไทยและคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 

โดยในการเล่นนั้นครูหรือผู้ปกครองสามารถร่วมเล่นกับเด็กได้ หรือสามารถเล่นเป็นรายบุคคลหรือช่วยกันเล่นเป็นทีมก็ได้เช่นเดียวกัน 

จุดเด่นของนวัตกรรมคืออะไร

บอร์ดเกม Jungle Fruit มีจุดเด่นในการช่วยลดปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมติดหน้าจอ
เรียนรู้ช้า ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ตลอดจนเด็กสมาธิสั้น และยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แบบ
บูรณาการ ซึ่งเด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้เรื่องผลไม้ เรื่องสี การอ่าน การสะกดคำภาษาไทย
และภาษาอังกฤษได้ผ่านการเล่นเกม ตัวเกมที่ความสนุกจูงใจให้เด็กอยากมาโรงเรียนเพื่อเล่น
กับเพื่อนและครู ถือเป็นการสร้างทัศคติที่ดีต่อการเรียนรู้ที่ดีอีกด้วย

ผลลัพธ์กับตัวเด็กที่ได้จากการใช้นวัตกรรม

จากการทำกิจกรรมด้วย “บอร์ดเกม Jungle Fruit” พบว่า เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีเหตุผลมากขึ้น ยอมรับการพ่ายแพ้ และยินดีเมื่อคนอื่นชนะ รู้จักหน้าที่ของตนเอง รู้จักการรอคอย มีระเบียบวินัย รักษากติกา มีใจจดจ่อ มีสมาธิที่ยาวนานขึ้น สามารถควบคุมตนเองได้ มีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครู และผู้ปกครอง กล้าแสดงออกมากขึ้น รวมถึงมีพัฒนาการด้านการสังเกตและการจำแนก เกิดทักษะการเชื่อมโยงภาพกับคำศัพท์ และมีความคิดยืดหยุ่นทางความคิดเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก

“บอร์ดเกม Jungle Fruit” จึงถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถช่วยส่งเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ของเด็กปฐมวัยที่ขาดหายไปจากช่วงที่โรงเรียนปิดเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของบอร์ดเกมผนวกเข้ากับรูปแบบการเล่นจากเกมอูโน่ (UNO) ซึ่งเป็นเกมที่เด็กคุ้นเคย ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานอีกทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องของสี คำศัพท์ และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นในขณะทำกิจกรรมอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

วจนา วรรลยางกูร. (2566). เด็กเล็กไทยสูญเสียการเรียนรู้แค่ไหนจากโควิด-19?. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2566 จาก  https://www.the101.world/learning-loss-in-early-childhood/

ดิลฉัตร ซุสสุโพวา. (2566). ผลกระทบสำคัญ 5 ด้าน ของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเด็กในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2566 จาก  https://www.unicef.org/thailand/th/stories/ผลกระทบสำคัญ-5-ด้าน-ของโรคโควิด-19-ที่มีต่อเด็กในประเทศไทย