เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding) 

ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทักษะด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคของประเทศไทย 4.0 การจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยมีทักษะด้านการคิดเชิงคำนวณ ที่เน้นพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล การรู้ลำดับขั้นตอน และการคิดสร้างสรรค์นั้น จะทำให้เด็กมีทักษะการคิดที่เป็นกระบวนการได้ดีสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังปรับตัวได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ การคิดเชิงคำนวณนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของความสามารถในการเขียนโปรแกรม หรือ โค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์โดยการสร้างลำดับของคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน ช่วยให้มนุษย์สื่อสารวิธีการแก้ปัญหาออกมาอย่างมีตรรกะ มีโครงสร้าง และเป็นระบบอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทีมปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้พัฒนานวัตกรรม เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding) ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นพัฒนากระบวนการคิดของเด็กปฐมวัย บนฐานของการใช้ Unplugged Coding ที่เป็นการนำเอา soft power ของจังหวัดสุพรรณบุรี มาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของเกม จึงส่งผลให้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ECD Innovation Awards ประจำปี 2023 

แนวคิดของนวัตกรรม “มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้”

ทีมปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding) เป็นการออกแบบเกมภายใต้บริบทชุมชนท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยสอดแทรกเนื้อหาของสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และของฝากที่ขึ้นชื่อ คือ ขนมสาลี่ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งเป็นสื่อการสอนในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ และเป็นเกมการศึกษา เน้นการจดจำรูปแบบ การเรียงลำดับ การออกแบบอัลกอริธึม (Algorithm) การสังเกต การวางแผน และการคิดเชิงระบบให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเข้ารหัสอย่างสนุกสนาน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างต่อเนื่องระหว่างบ้านและโรงเรียน ทำให้เกิดการเล่นอย่างมีความหมาย 

เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กช่วงอายุ 3 – 8 ปี เป็นการพัฒนาบนฐานงานวิจัย (Research and Development) จากการวิจัยเรื่อง “โครงการขยายผลการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาครูปฐมวัย ครูผู้ช่วย และผู้ดูแลเด็ก ที่สอดคล้องกับสมรรถนะเด็กปฐมวัยและเหมาะสมกับทุกสังกัดแบบอิงพื้นที่เป็นฐานโดยการมีส่วนร่วมจากภาคีหุ้นส่วนทางการศึกษา”ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปี พ.ศ. 2564 

จุดเด่นของนวัตกรรมคืออะไร

เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding)  เป็นเกมการศึกษาที่ถูกออกแบบมา เพื่อมุ่งเน้นพัฒนากระบวนการคิดของเด็กปฐมวัย บนฐานของการใช้ Unplugged Coding ที่เป็นการนำเอา soft power ของจังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อง “สถานที่ท่องเที่ยว” และ “ของฝาก” มาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของเกม เป็นการฝึกวิธีคิด ฝึกการวิเคราะห์ วางแผน และเป็นการปลูกฝังจิตสำนึก รวมถึงความเข้าใจในชุมชนของเด็กปฐมวัย ผ่านกิจกรรมในเกมที่มีความสนุกสนาน 
โดยที่เด็กสามารถเล่นได้ทั้งแบบกลุ่มเล็ก และกลุ่มใหญ่

เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding) ประกอบด้วย 2 เกม มีรายละเอียด ดังนี้

1) เกม Sight Seeing Suphanburi เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 5 – 8 ปี โดยการนำสถานที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีความหมายต่อตัวของเด็ก และส่งเสริมความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองผ่านการเล่นเกม เกมนี้ถูกออกแบบมาแบบมาให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิด การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การปฏิบัติตามเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ เด็กสามารถเล่นแบบเดี่ยว หรือแบบกลุ่มได้ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ 

2) เกม Let’s make Salee-Suphan เกมนี้เหมาะสมกับเด็กอายุ 3 – 6 ปี เกมนี้มีวิธีการเล่นที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ผ่านการวางการ์ดแบบที่เป็นสัญลักษณ์ ทำให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดและกระบวนการคิดผ่านการสังเกต เกมสามารถเพิ่มระดับความยากได้ด้วยการปรับกติกาการเล่นในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับวัยและความสามารถของเด็กที่เล่น และยังมีการ์ดพิเศษที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความท้าทายต่อตัวของผู้เล่น

ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้นวัตกรรม

      ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู 

1) ครูมีสื่อต้นแบบในการออกแบบและพัฒนาเกมการศึกษา หรือสื่อการสอนที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของตนเอง

2) ครูมีแรงบัลดาลใจในการทำสื่อการสอน และใช้สื่อสำเร็จรูปลดลง

3) ครูสามารถออกแบบและพัฒนาสื่อการสอนที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของตนเองได้

       ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย 

1) เด็กมีทักษะในการสังเกต การวางแผน ทักษะการคิด และมีสมาธิเพิ่มมากขึ้น

2) เด็กสามารถเล่นเกมร่วมกันเป็นทีม โดยเรียนรู้การเป็นผู้นำ ผู้ตาม และเรียนรู้การแพ้-ชนะจากการเล่นเกม

3) เด็กมีความสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับขนม อาหาร และสิ่งของอื่น ๆ ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดสุพรรณบุรี เช่น ปลาสลิดแดดเดียว ขนมโมจิ เครื่องจักสาน 

4) เด็กให้ความสนใจกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับความร่วมมือ
จากผู้ปกครองในการหาข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเกม เพื่อพาเด็กไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านั้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding)  เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำให้เด็กปฐมวัย ได้พัฒนาทักษะในการสังเกต การวางแผน ทักษะการคิดเชิงคำนวณ อีกทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับขนม อาหาร และสิ่งของอื่น ๆ ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน ทำให้เด็กเกิดการเล่นอย่างมีความหมาย

ที่มา : เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding)  โดย ทีมปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เอกสารอ้างอิง

ทีมปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต. (2566). เกมตะลุยเมืองสุพรรณบุรี (Unplugged Coding). สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2567 จาก https://ecd.onec.go.th/knowledge/multimedia/infographic/6808/