มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้  สร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้แสนง่าย จากสิ่งของรอบตัว

ทักษะทางสังคมเป็นทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม ถือเป็นกฎกติกา แนวทาง หรือทิศทางในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยทักษะทางสังคมสามารถแสดงออกผ่านคำพูด สีหน้า และท่าทางได้ และถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสัมพันธภาพร่วมกันของเด็กกับเพื่อนในห้องเรียน

ส่วนมากแล้วเด็กมักจะเรียนรู้ทักษะทางสังคมผ่านการสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะการเล่นกับเพื่อน แต่ในปัจจุบันเด็กมีโอกาสเล่นกับเพื่อนน้อยลง ประกอบกับโลกในยุคปัจจุบันที่เอื้อให้เด็กสามารถหาความบันเทิงผ่านการเล่นเกมออนไลน์หรือเกมคอมพิวเตอร์ ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์จากโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะทางสังคมตามธรรมชาติได้น้อยลง

ด้วยเหตุนี้ นางเยาวลักษณ์ คุณยศยิ่ง ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุย จึงได้พัฒนานวัตกรรม มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ ขึ้น เป็นการนำเศษวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ 
มาประยุกต์ทำของเล่นให้กับเด็ก เพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับเด็กในการทำกิจกรรมด้วยจึงส่งผลให้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ECD Innovation Awards ประจำปี 2023 

แนวคิดของนวัตกรรม “มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้” 

นางเยาวลักษณ์ คุณยศยิ่ง กล่าวว่า จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กระดับชั้นอนุบาล 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุย ในกิจกรรมการเล่นตามมุมพบว่า เด็กขาดทักษะทางสังคม เด็กมักแย่งของเล่น ไม่รู้จักรอคอย และแบ่งปัน เมื่อเล่นเสร็จแล้วไม่เก็บของเข้าที่ การจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ผ่านการเล่นถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่วยส่งเสริมพัฒนาเด็กได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ครูได้นำเศษวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ มาประยุกต์ใช้ทำของเล่นให้กับเด็ก โดยการยึดหลัก “ประโยชน์ ประหยัด ปลอดภัย” เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ประกอบกับบริบทของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุยเป็นชุมชนกึ่งเมือง ข้อมูลด้านขยะในชุมชนมีมาก การนำเศษวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ของเล่นจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

จุดเด่นของนวัตกรรมคืออะไร

การจัดกิจกรรมด้วย มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยเทคโนโลยีเชิงวิธีการใช้ซ้ำ (Reuse) การแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในรูปแบบของเล่นที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาเด็กได้อย่างรอบด้าน เด็กมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุข เด็กและผู้ปกครองมีกิจกรรมทำร่วมกันที่บ้านทำให้ลดการใช้มือถือในครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของเล่นสำเร็จรูป โดยการยึดหลัก “ประโยชน์ ประหยัด ปลอดภัย” เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เป็นของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา กระตุ้นให้เด็กสนใจในการเรียนรู้ ช่วยพัฒนาทางด้านภาษา พัฒนาทักษะการสังเกต การวางแผนในการเล่น เห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับสาระที่ควรเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ซึ่งประกอบด้วยของเล่นจำนวนทั้งหมด 8 แบบ ได้แก่ 
1) กะลาแปลงกาย 2) ลูกข่างสะบ้า 3) กังหันขวดน้ำ 4) กล่องมหัศจรรย์ 5) เด้งลงหลุม 6) เขาวงกต 7) ผึ้งหารัง และ 
8) ตู้คีบหรรษา

ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้นวัตกรรม

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ เด็กมีทักษะทางสังคมดีขึ้น รู้จักรอคอย แบ่งปัน เก็บของเข้าที่อย่างเป็นระเบียบด้วยตนเองเมื่อเล่นเสร็จ เกิดค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการเห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้สามารถนำเอาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาเป็นของเล่น ออกแบบการเล่นของตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ของเล่นได้หลากหลาย เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ด้านร่างกายได้เคลื่อนไหวร่างการทุกส่วน ด้านอารมณ์แจ่มใสมีความสุขสนุกสนาน ด้านสังคมเล่นกันผู้อื่นได้เป็นอย่างดีรู้จักรอคอยแบ่งปัน ทำตามข้อตกลงในการเล่นร่วมกัน เก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จทุกครั้ง ด้านสติปัญญา เด็กเกิดความคิดรวบยอดในการทำของเล่น มีจิตนาการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีทักษะการสื่อสารที่ดีสามารถเล่าและถ่ายทอดวิธีการทำของเล่นให้กับผู้ปกครองได้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู คือ ครูมีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างรอบด้าน ตามธรรมชาติของเด็กเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัส ลงมือทำ ปฏิสัมพันธ์ ผ่านกระบวนการเล่น ออกแบบการเล่นที่เหมาะสมปลอดภัยตามบริบทของสถานศึกษา ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็ก ครูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง สามารถสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองในการเล่นและประดิษฐ์ของเล่นกับลูกที่บ้าน ได้รับการยอมรับจากองค์ภายภายในและภายนอก สามารถเป็นวิทยากรในการอบรมผลิตสื่อ/ของเล่นจากเศษวัสดุธรรมชาติ และวัสดุเหลือใช้ได้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง คือ ผู้ปกครองเข้าใจความต้องการและความสำคัญในการเล่นกับลูกที่บ้าน 
จัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เด็กมีที่เล่นที่ปลอดภัย ผู้ปกครองสามารถประดิษฐ์ของเล่นจากธรรมชาติรอบตัว หรือนำเศษวัสดุ มาทำของเล่นร่วมกับลูกที่บ้านได้ ทุกคนในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันลดการใช้มือถือในครอบครัว

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุย คือ ได้รับการยอมรับเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และองค์กรอื่นเข้ามาศึกษาดูงาน มีกระบวนการทำงานเป็นทีม ครู ผู้ปกครอง ชุมชนมีความปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีเครือข่ายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพิ่มขึ้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ด้วยประสบการณ์ตรง ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่วยส่งเสริมพัฒนาเด็กได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา โดยการยึดหลัก “ประโยชน์ ประหยัด ปลอดภัย” และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรม

ที่มา : มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ โดย นางเยาวลักษณ์ คุณยศยิ่ง
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุย

เอกสารอ้างอิง

เยาวลักษณ์ คุณยศยิ่ง. (2566). นวัตกรรม มหัศจรรย์ของเล่นจากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2567 จาก https://ecd.onec.go.th/knowledge/multimedia/infographic/6832/