พัฒนากระบวนการคิดเด็กปฐมวัย ด้วยนวัตกรรมเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย

จากข้อมูลของกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับคนในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างสมวัย เมื่อต้องหยุดเรียนจึงส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ช้าลง รวมถึงขาดทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ เช่น ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะความคิดสร้างสรรค์

ด้วยเหตุนี้ ทีมอนุบาลสาธิตพิชิตเส้นชัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จึงได้พัฒนานวัตกรรม เกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ การวางแผน การจดจ่อใส่ใจ ทักษะทางวิทยาศาสตร์ และทักษะทางภาษาในเด็กปฐมวัยขึ้น จึงส่งผลให้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ECD Innovation Awards ประจำปี 2023

แนวคิดของนวัตกรรม เกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย

ทีมอนุบาลสาธิตพิชิตเส้นชัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ผู้ออกแบบนวัตกรรม กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาเด็กปฐมวัยได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งส่งผลต่อตัวเด็กในหลากหลายด้าน เช่น เด็กติดโทรศัพท์มือถือ ติดเกมออนไลน์ ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เด็กปฐมวัยขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร  ทักษะทางสังคม การเล่นกับเพื่อน การช่วยเหลือแบ่งปัน ซึ่งจะทำให้เด็กปฐมวัยพลาดโอกาสในการเรียนรู้ เด็กควรมีทักษะชีวิตที่ดี โดยเริ่มจากพื้นฐานครอบครัว และครูควรจัดกิจกรรมส่งเสริมแก้ปัญหาพฤติกรรมนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของเด็กปฐมวัย โดยเน้นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา และคิดวิเคราะห์ การวางแผน จดจ่อใส่ใจ ทักษะทางวิทยาศาสตร์ และทักษะทางภาษา ซึ่งเกมการศึกษาสามารถช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

จุดเด่นของนวัตกรรมคืออะไร

นวัตกรรมเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย เป็นเกมจับคู่หาภาพเหมือน โดยอาศัยการสังเกต ความไว และการคิดวางแผน โดยใช้ภาพผลไม้ และภาพสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กสนใจในการเรียนรู้ มาเป็นสื่อในการพัฒนาทักษะ สร้างสมาธิมีใจจดจ่อ โดยเด็กต้องใช้กรวยกระดาษในการวางทับรูปภาพบนบอร์ด ที่เหมือนกับภาพในการ์ดที่ครูเปิดขึ้นมา และมีการให้รางวัลเป็นเหรียญเงินสำหรับเด็กที่สามารถจับคู่ภาพได้ในแต่ละรอบ ซึ่งเกมมีความยืดหยุ่น ตามกลุ่มผู้เล่น ระยะเวลา เป้าหมายในการ
เรียนรู้

โดยเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน บุคคลรอบข้าง จากกิจกรรมการเล่นเกมทำให้เด็กสนุกสนาน กระตุ้นความจำ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ เกิดกระบวนการเรียนรู้โดยการวางแผน การจดจ่อใส่ใจ การจำ พัฒนาทักษะทางภาษา การสื่อสาร พัฒนาทักษะทางปัญญา สามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวได้ด้วยตัวเอง

ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้นวัตกรรม

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก  ช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐาน ทักษะการคิด ทักษะทางภาษา  ทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ดี เช่น การจำแนกเปรียบเทียบและการประสานสัมพันธ์กันของการมองเห็นและมือ (Eye-Hand Coordination) เด็กปฐมวัยมีสมาธิ  จดจ่อใส่ใจ และยังฝึกการยับยั้งชั่งใจในการเล่นเกมและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับครูและเพื่อน ลดปัญหาเด็กติดหน้าจอ  ผลที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัยจึงนำไปสู่การเรียนรู้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างสร้างสรรค์ และเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

         ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู  ครูสามารถใช้เกมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และฝึกการพัฒนาทักษะแก่เด็กปฐมวัย โดยสามารถบูรณาการเนื้อหา ทักษะการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยและลักษณะของกลุ่มผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง  ผู้ปกครองได้ร่วมเรียนรู้และพัฒนาทักษะพื้นฐานที่ดีให้เด็กเข้าใจพฤติกรรมของเด็กและได้ติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กผ่านการเล่นเกม  จึงอาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย เป็นเกมที่ออกแบบขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้โดยการวางแผน การจดจ่อใส่ใจ มีพัฒนาการทางภาษา และทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ต่าง ๆ จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวได้ด้วยตัวของเด็กเอง

ที่มา : นวัตกรรมเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย โดย ทีมอนุบาลสาธิตพิชิตเส้นชัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

เอกสารอ้างอิง

ทีมอนุบาลสาธิตพิชิตเส้นชัย  โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย. (2566). นวัตกรรมเกมฝึกทักษะการคิดพิชิตเส้นชัย. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://ecd.onec.go.th/knowledge/multimedia/infographic/6816/