การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อในเด็กปฐมวัย โดยชุมชนท้องถิ่น – การจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อในเด็กปฐมวัย โดยชุมชนท้องถิ่น – การจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อในเด็กปฐมวัย โดยชุมชนท้องถิ่นในการจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประกอบด้วย 

1. ห้องเรียนหรือห้องนอน จะต้องมีแผนงานการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เครื่องนอน
สิ่งของ อุปกรณ์ ของเล่น ทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน จัดให้มีการอบห้องด้วยแสง
ยูวีหลังเลิกเรียนวันศุกร์หรือวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ครูผู้ดูแลควรมีสัดส่วนที่ 1: 5 – 8 คน คือ
ครู 1 คนต่อจำนวนเด็ก 5 – 8 คนในการดูแลตลอดวัน เมื่อพบเด็กมีอาการผิดปกติต้องรีบแยก
เด็กทันที สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าให้เด็กป่วยตลอดเวลา มีแอลกอฮอล์เจลสำหรับ
ล้างมือเพียงพอ จัดพื้นที่เรียน เล่นสำหรับเด็กรายบุคคลให้มีระยะห่าง 1 – 2 เมตร ขณะเรียน
หรือทำกิจกรรม ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลาดเวลาชุดเสริมพัฒนาการ
อุปกรณ์การเล่นควรจัดเพียงพอคนละ 1ชุด และระวังการแลกหน้ากากอนามัยหรือการใช้
ของร่วมกับคนอื่น

2. การจัดการตัวเองของครู ผู้ดูแลเด็ก จะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
ตลอดเวลาที่ดูแลหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือก่อนและหลัง
สัมผัสตัวเด็ก เมื่อเดินทางถึง ศพด. จะต้องล้างมือ วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
เปลี่ยนเสื้อผ้า ในการเก็บ หรือทิ้งหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่ใช้แล้วจะต้องใส่ถุงมัดปิด
ให้สนิทก่อนทิ้งทุกครั้ง และต้องสังเกตอาการผิดปกติของตนและผู้ใกล้ชิด รวมถึงการประเมิน
ประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยสัมผัสกับคนที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง

3. จุดรับส่งเด็กปฐมวัย จะต้องมีจุดประเมินตรวจร่างกายเพื่อประเมินความผิดปกติ วัดไข้
โดยเครื่องสแกนผู้ปกครอง เด็กต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า มีการล้างมือ ล้างเท้า
ด้วยน้ำสะอาด และถูสบู่อย่างถูกวิธีและมีการลงบันทึกผลตรวจสุขภาพประจำวัน

4. รถรับส่งเด็กปฐมวัย ผู้รับส่ง เด็กโดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จัดที่นั่งให้เว้นระยะห่างพอเหมาะ ทำความสะอาดราวจับ เก้าอี้ ที่พักแขน ก่อนและหลังรับ – ส่ง และต้องมีแอลกอฮอล์เจลสำหรับทำความสะอาดมือ

5. การปฏิบัติเมื่อพบเด็กป่วย ประเมินการเจ็บป่วยและความเสี่ยง ไม่พบความเสี่ยงต่อโรคติดต่อ ให้แจ้งผู้ปกครอง พาไปพบแพทย์ และพักอยู่ที่บ้าน ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงต่ำ ให้แยกเด็ก
จากกลุ่มอื่นทันที แจ้งผู้ปกครองและนำส่งสถานพยาบาล ทำความสะอาดเครื่องเล่น ของเล่น
สถานที่ และใช้แนวทางการกักตัว 14 วัน แต่ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูง ให้แยกเด็กจากกลุ่มอื่นทันที
แจ้งผู้ปกครอง และนำส่งสถานพยาบาล ทำความสะอาดเครื่องเล่นของเล่น สถานที่ และให้การดูแล
ตามแนวทางความเสี่ยงสูง (เก็บตัวอย่าง กักตัวผู้ใกล้ชิด สัมผัส)

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2566). การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อในเด็กปฐมวัย โดยชุมชนท้องถิ่น – การจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2566 จาก https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/9b6543b1-692a-ed11-80fa-00155db45626?isSuccess=False