กรมอนามัย ห่วงประชาชน-เด็กเล็กรับ PM2.5 แนะป้องกันตนเอง-ทำห้องปลอดฝุ่น

“กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะนำประชาชนป้องกันตนเอง และทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพโดยเฉพาะในเด็กเล็ก และกลุ่มเปราะบางที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจ”

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 พบว่า PM2.5 เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 29 – 64 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบเกินมาตรฐาน 26 สถานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบเกินค่ามาตรฐานที่จังหวัดนครพนม เนื่องจากปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ เพดานการลอยตัวอากาศเริ่มต่ำลง ความเร็วลมอ่อน และการยกตัวของอากาศไม่ดี ทำให้อากาศนิ่ง และมีการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 มากขึ้น และข้อมูลศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์ปริมาณ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจนอาจเกินมาตรฐานในช่วงวันที่ 23-24 ธันวาคม 2565 โดยช่วงหลังวันที่ 24 ธันวาคม สถานการณ์ฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงมากขึ้นช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ประกอบกับสภาพอากาศที่เปิดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 27-28 ธันวาคม 2565 อาจมีโอกาสพบสถานการณ์ฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกครั้ง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
(อธิบดีกรมอนามัย)

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัว เพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 ด้วยวิธีดังนี้

  1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ “AirBKK” ของกรุงเทพมหานคร และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  2. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 ขณะอยู่กลางแจ้ง
  3. ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน
  4. ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ
  5. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  6. สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่นไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์

“นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูด PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษโดย 1) ทำความสะอาดห้องโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดตามบริเวณต่าง ๆ เป็นประจำ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย 2) ควรงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มมากขึ้น เช่น เผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียน จุดธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดควัน  สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบ และทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือน พยายามล้างเครื่องปรับอากาศให้ได้อย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง 3) ปิด ประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

เอกสารอ้างอิง

  • กรมอนามัย. (2565). กรมอนามัย ห่วงประชาชน-เด็กเล็กรับ PM2.5 แนะป้องกันตนเอง-ทำห้องปลอดฝุ่น. สืบค้น 2 มกราคม 2566, จาก : https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/231265/