สธ. หนุนหญิงตั้งครรภ์-หญิงหลังคลอด มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อแม่-ลูกสุขภาพดี

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดให้สุขภาพแข็งแรง มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ตามหลัก 3 อ. พร้อมแนะมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานลงนามความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด ณ บริเวณห้องโถง อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง ด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อม ทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องเริ่มตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา ด้วยการส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ตามหลัก 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่จะส่งผลกระทบกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัยของทารกในครรภ์ และลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด การพิการหรือเสียชีวิต

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หญิงตั้งครรภ์จะพบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีรวิทยา กายวิภาค การเผาผลาญพลังงาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง ทางด้านจิตใจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำไปสู่อาการไม่สุขสบายตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง จากการศึกษาวิจัยยืนยันว่าการมีกิจกรรมทางกาย อย่างสม่ำเสมอในระยะตั้งครรภ์ ช่วยส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีสุขภาพที่ดีช่วยเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย เพื่อเข้าสู่ระยะคลอด ทำให้การคลอดง่ายขึ้น ส่งผลให้ความเจ็บปวดระหว่างการคลอดลดลงในระยะหลังคลอด ยังส่งเสริมให้น้ำหนักตัวลดลงสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็วและด้านจิตใจ พบว่า ลดภาวะซึมเศร้าในสัปดาห์แรกหลังคลอด ทำให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและมีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ของตนเองสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อทารก โดยพบว่าความยาวของลำตัวและน้ำหนักทารกแรกเกิด จะมีมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย

“กระทรวงสาธารณสุขจึงมอบหมายให้กรมอนามัย ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดที่เพียงพอจะทำให้มีสุขภาพดีทั้งตนเองและทารกในครรภ์” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

เอกสารอ้างอิง

  • กรมอนามัย. (2565). สธ. หนุนหญิงตั้งครรภ์-หญิงหลังคลอด มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อแม่-ลูกสุขภาพดี. สืบค้น 2 มกราคม 2566, จาก : https://anamai.moph.go.th/th/news-anamai/43248#